TNN จริงหรือไม่? "กล้วยสุก" ช่วยรักษาโรคไมเกรนได้

TNN

TNN Fact Check

จริงหรือไม่? "กล้วยสุก" ช่วยรักษาโรคไมเกรนได้

จริงหรือไม่? กล้วยสุก ช่วยรักษาโรคไมเกรนได้

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไขข้อสงสัย "กล้วยสุก" ช่วยรักษาโรคไมเกรนได้จริงหรือ เช็กเลย!

วันนี้( 15 เม.ย.65) ตามที่มีข้อความชวนเชื่อเรื่องกล้วยสุกช่วยรักษาโรคไมเกรนได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โดยทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่ผิด ไม่มีข้อบ่งใช้กล้วยทางการแพทย์ในการรักษาโรคไมเกรน ทั้งนี้ กล้วย อุดมไปด้วยสารไทรามีน และสารแมกนีเซียม ซึ่งถ้าดูแค่ตัวสารไทรามีน เป็นสารที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยไมเกรนบางราย แต่ในบางงานวิจัยก็พบว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการปวดหัวกำเริบ มีปริมาณสารแมกนีเซียมในสมองลดลง 

แต่ก็ยังไม่มีอะไรมายืนยันว่า การรับประทานกล้วย ที่อุดมไปด้วยสารแมกนีเซียมจะช่วยเพิ่มปริมาณของสารแมกนีเซียมในสมองขณะที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอยู่หรือไม่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ประโยชน์ทางยาของกล้วยสุก คือช่วยต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยมีสารเพคติน (Pectin) ที่มีส่วนช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร และช่วยในการขับถ่าย โดยสารเพคติน (Pectin) จะไปช่วยเพิ่มกากใยในระบบทางเดินอาหาร จึงช่วยให้การขับถ่ายคล่องขึ้น

แนวทางการรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน

1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด อาหาร หรือเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น กาแฟ chocolate แอลกอฮอล์ เป็นต้น

2. การใช้ยารักษา ควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยแบ่งเป็นยารักษาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ยาแก้ปวดพาราเซตามอล, ยาแก้ปวด-อักเสบ กลุ่มNSAIDs, ยากลุ่ม Ergot, ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) ยารักษาแบบป้องกัน ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดไมเกรน และแต่ละครั้งรุนแรง หรือผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาในกลุ่มที่ใช้รักษาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลันได้ ได้แก่ ยาโพรพราโนลอล (Propranolol), ยาพิโซติเฟน (Pizotifen), ยาฟลูนาริซีน (Flunarizine), ยาเวอราพรามิล (Verapamil)

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02-591-7007

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่มีข้อบ่งใช้กล้วยทางการแพทย์ในการรักษาโรคไมเกรน โดยประโยชน์ทางยาของกล้วยสุก คือช่วยต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และช่วยในการขับถ่าย




ที่มา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ