จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

TNN Exclusive

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง” (Hi-Speed Train) อย่างรวดเร็ว และอาจระแคะระคายเกี่ยวกับรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า” (Maglev) ของจีนมาแล้วไม่มากก็น้อย วันนี้ผมจะพาไปขุดคุ้ยสถานะล่าสุดและแผนงานในอนาคตของ Maglev ตัวใหม่กันครับ ...

จากความหวานเย็นและตู้โดยสารรถไฟที่อัดแน่นและอบอวลไปด้วยกลิ่นอับของรถไฟจีนในอดีต วันที่ 1 สิงหาคม 2008 ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุครถไฟความเร็วสูงของจีนเมื่อรถไฟเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจินเปิดให้บริการแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก

หลังจากนั้น จีนก็พัฒนารถไฟความเร็วสูงชนิดติดจรวดรัฐบาลจีนได้ออกนโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการพัฒนารถไฟ ทั้งในรูปของการวิจัยและพัฒนา ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ การสนับสนุนด้านสินเชื่อ การประเมินราคาที่ดิน และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นก็ให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพราะเล็งเห็นถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว

ด้วยระบบที่ดีและความมุ่งมั่นทำจริง โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการก่อนกำหนด บริการรถไฟความเร็วสูงมีความเที่ยงตรงและช่วยลดระยะเวลาการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางถึง 1-3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับของรถไฟในอดีต แถมยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ และไม่ต้องอึดอัดในพื้นที่แคบๆ อีกด้วย

จากรถไฟความเร็วสูง ... สู่รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สิ้นปี 2010 จีนก็มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเป็นระยะทางถึง 10,000 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ามากที่สุดในโลก แต่ก็จีนก็ยังเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพียงไม่ถึง 5 ปีหลังจากนั้น จีนก็มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะทางรวมกว่า 16,000 กิโลเมตร มากกว่าของฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสเปนรวมกันถึงกว่าเท่าตัว และยาวกว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในสหภาพยุโรปทั้งหมดรวมกันเสียอีก

ปัจจุบัน จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยาวรวม 37,900 กิโลเมตร มากกว่าของทุกประเทศในโลกรวมกัน และให้บริการด้วยรถไฟรุ่นใหม่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้รถไฟความเร็วสูงในจีนมีหลายระดับความเร็วในแต่ละเส้นทาง ที่เร็วสุดก็ได้แก่ เส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ที่ให้บริการด้วยความเร็ว 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ด้วยคุณสมบัติที่ดีหลายประการ รถไฟความเร็วสูงในจีนมีสัดส่วนการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริการดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านลอจิสติกส์ รวมทั้งกระจายความเจริญ ลดอัตราการใช้พลังงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เท่านั้นไม่พอ ในแผนพัฒนารถไฟของจีนระหว่างปี 2021-2035 กระทรวงการรถไฟจีนยังกำหนดเป้าหมายในแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงว่าจะขยายเส้นทางของรถไฟความเร็วสูงให้เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเป็น 70,000 กิโลเมตรภายในปี 2035

ขณะเดียวกัน จีนยังวางแผนจะนำเอา “Internet+” และ “Internet of Things +” รวมทั้งระบบ 5G ปัญญาประดิษฐ์ และไอทีสมัยใหม่ มาช่วยยกระดับรถไฟในโลกอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ จีนยังจะทำเงินอีกมหาศาลจากการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟสู่ตลาดโลก การพัฒนาของชุมชนเมืองตามเส้นทางรถไฟดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ รวมทั้งจีนยังต้องการใช้รถไฟความเร็วสูงเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินนโยบายความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางจีน-ลาวที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม ศกนี้

นอกเหนือจากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงแล้ว จีนยังซุ่มเรียนลัดและต่อยอดเทคโนโลยีรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าระบบ “Transrapid” ที่คิดค้นโดยความร่วมมือของซีเมนซ์ (Siemens) ธิสเซ่นครุปป์ (ThyssenKrupp) และรัฐบาลเยอรมนีเมื่อราว 20 ปีก่อน และจีนได้นำมาเริ่มใช้ครั้งแรก นครเซี่ยงไฮ้

หากปักกิ่ง-เทียนจีนถือเป็นบ้านหลังแรกของรถไฟความเร็วสูงเซี่ยงไฮ้ก็อาจถือเป็นบ้านหลังแรกของ Maglev” โดยนับแต่ปี 2003 Maglev ตัวแรกนี้ให้บริการผู้โดยสารระหว่างตัวเมืองผู่ตง (ถนนหลงหยาง) และสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตงด้วยความเร็ว 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผู้โดยสาร Maglev ใช้เวลาไม่ถึง 8 นาทีในการเข้าชานชาลาที่ห่างออกไปราว 30 กิโลเมตรได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งผู้อ่านหลายท่านอาจได้มีโอกาสไปทดลองนั่งแล้วก่อนหน้านี้

ต่อมา จีนก็ได้พัฒนาเทคโนโลยี Maglev ความเร็วต่ำและปานกลางของตนเองที่เป็นแบบซุปเปอร์คอนดักเตอร์อุณหภูมิสูง (High-Temperature Superconductor) ไปใช้ในหลายเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ นครฉางซา เมืองเอกของมณฑลหูหนาน

ในเดือนพฤษภาคม 2019 จีนสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศเปิดตัวรถไฟ Maglev ต้นแบบ ที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง โดยแย้มว่า Maglev ตัวนี้จะสามารถทำความเร็วได้ถึง 620 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหนือกว่า SCMaglev ของญี่ปุ่นที่ทำความเร็วไว้ที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จีนได้นำเอา Maglev สุดล้ำขนาดความยาว 5 โบกี้ออกจากสายการผลิตที่โรงงานเขตซื่อฟางของ China Railway Rolling Stock Corporation (CRRC) ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง แบบสดๆ ร้อนๆ ไปเผยโฉมต่อหน้าสาธารณชนและสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

Maglev ตัวใหม่นี้ถูกวางแผนว่าจะเปิดให้บริการต่อประชาชนในเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ในราวสิ้นปีนี้ ด้วยความเร็ว 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการก็จะถือเป็นรถไฟที่ให้บริการด้วยความเร็วที่สูงสุดในโลก โดยคาดว่าจะใช้เวลาการเดินทางที่มีระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตรระหว่างสองมหานครดังกล่าวเพียงราว 2 ชั่วโมงครึ่ง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า Maglev ชุดแรกนี้จะสามารถให้บริการได้ถึง 10 ห้องโดยสาร โดยแต่ละโบกี้รองรับผู้โดยสารได้ราว 100 คน นั่นหมายความว่า แต่ละเที่ยวจะให้บริการผู้โดยสารได้ถึง 1,000 คน มากกว่าเครื่องบินราว 3-5 เท่าตัว

ในแผนระยะยาวการพัฒนารถไฟของจีน จีนจะขยายเส้นทางระหว่างเมืองสำคัญที่มีความยาว ระหว่าง 1,000-1,500 กิโลเมตรในอีกหลายเส้นทาง อาทิ การขยายต่อเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ลงไปทางใต้ถึงเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างกวางโจว เซินเจิ้น และฮ่องกง หรือเส้นทางเฉิงตู-ฉงชิ่ง และเฉิงตู-ยูนานภายในราวปี 2030

ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ เราจะสามารถเดินทางระหว่างเซี่ยงไฮ้-เซินเจิ้น โดยใช้เวลาเพียงราว 2 ชั่วโมงครึ่ง ปักกิ่ง-กวางโจว ราว 3 ชั่วโมงเศษ และเฉิงตู-ฉงชิ่งเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่า หากให้ Maglev วิ่งในอุโมงค์สูญญากาศเพื่อลดแรงเสียดทาน ก็คาดว่าจะสามารถเพิ่มความเร็วได้เป็นถึง 1,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งแหล่งข่าวเปิดเผยว่า จีนซุ่มทดลองโครงการนี้อยู่แถวมณฑลกานซู่

ภาพของรถไฟลมโชยของจีนกำลังกลายเป็นอดีตที่หาดูได้ยาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนารถไฟความเร็วสูงหลายรุ่นมาให้บริการทั่วจีน และล่าสุดยังได้คลอด Maglev ที่โฉบเฉี่ยวตัวใหม่ออกมาให้เชยชมกันแล้ว

เหล่านี้แสดงถึงขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมรถไฟของจีนที่เหนือชาติใดในโลกอย่างแท้จริงในปัจจุบัน

และด้วยศักยภาพที่มีอยู่ ผมก็เชื่อมั่นว่า จีนจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำแห่งวงการรถไฟ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มหาศาลจากการส่งออกรถไฟล้ำยุคที่จีนพัฒนาขึ้นไปอีกนาน ...

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง