การประเมิน Valuation สินทรัพย์ดิจิทัลเบื้องต้น ภาค 2
การประเมิน Valuation สินทรัพย์ดิจิทัลเบื้องต้น ภาค 2 โดย เอกราช ศรีศุภวิชากิจ Head of Risk Management & Research Specialist Zipmex
การคิด Valuation Bitcoin เป็นสิ่งที่ถกเถียงและพยายามหาคำตอบกันมานานหลายปีแล้ว ในบทความก่อนของเราเรื่องการ ประเมิน Valuation สินทรัพย์ดิจิทัลเบื้องต้น แบบบริษัท Startup ภาค 1 เหมือนเป็นการปูพื้นให้หลายคนเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่ใกล้ตัวเราในอดีต แต่ในบทความนี้เราจะเจาะจงไปที่คำถามที่หลายคนพยายามหาคำตอบนั่นคือ “Bitcoin คิด Valuation อย่างไร”
Bitcoin ประเมิน Valuation ไม่ได้?
ผมเคยเขียนบทความหนึ่งในช่วงหลายปีก่อนเกี่ยวกับการประเมินมูลค่า Bitcoin เอาไว้ดังนี้
หลังจากนั้นก็มีบทความรวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการคิด Valuation ออกมามากมาย แต่มีงานวิจัยชุดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง เป็นงานวิจัยจาก CFA Institute Research Foundation ที่ชื่อ Cryptoassets: The Guide to Bitcoin, Blockchain, and Cryptocurrency for Investment Professionals เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2021 ที่ผ่านมาโดยมีการเขียนถึงการวิเคราะห์ Valuation Bitcoin ไว้ถึง 5 วิธีที่น่าสนใจดังนี้
Approach 1: Total Addressable Market
ถ้าประเมินว่า Bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่จะมาทดแทนหรือใกล้เคียงทองคำ เราก็สามารถประเมินมูลค่า Bitcoin จากมูลค่าทองคำในปัจจุบันก่อน หลังจากนั้นก็ประเมินว่า Bitcoin จะสามารถทดแทน "มูลค่าตลาดรวมของทองคำ" ได้กี่ % ต่อมาก็ดูจำนวนเหรียญที่มีของ Bitcoin อย่างเช่น Bitcoin ที่จำกัดที่ 21 ล้าน สุดท้ายก็นำมาคำนวณออกเป็นมูลค่าต่อเหรียญ
Approach 2: The Equation of Exchange (MV=PQ)
ถ้าประเมินว่า Bitcoin มีคุณสมบัติของเงิน แล้วจะมาทดแทน Fiat Currency สูตรในคำนวนจะอ้างอิงจาก ปริมาณเงินที่มี รอบการหมุนของเงิน ราคาและปริมาณสินค้า/บริการต่าง ๆ ก็เป็นวิธีการประเมินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนักการเงินและนักเศรษฐศาสตร์น่าจะคำนวณและเคยชินกับโมเดลประมาณนี้
Approach 3: Valuing Cryptoassets as a Network
ถ้าประเมินว่า Bitcoin คือระบบเครือข่ายชนิดหนึ่งหรือตีความอีกนัยยะหนึ่งคือเครือข่ายมีผลต่อ Valuation ในอนาคต วิธีการนี้จะอ้างอิงจากทฤษฎีของสายเทคโนโลยี โดยประเมินว่า มูลค่าของระบบเครือข่ายใด ๆ ก็ตาม จะเป็นสัดส่วนของจำนวนผู้ใช้ยกกำลังขึ้นไป ซึ่งความยากของวิธีดังกล่าวคือการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยีมักจะเติบโตแบบ Exponential มากกว่าการเติบโตแบบเส้นตรงที่คาดการณ์ได้
Approach 4: Cost of Production Valuation
ถ้าเราประเมินว่า Bitcoin คือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ประเภทหนึ่ง วิธีการประเมินมูลค่าคือประเมินจากต้นทุนการผลิต ซึ่งก็คือต้นทุนของนักขุด Bitcoin (Miners) โดยที่ต้นทุนดังกล่าวได้แก่ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ ค่าดูแลรักษา เป็นต้น
Approach 5: Stock-to-Flow Model
การประเมินนี้มองไปที่ Scarcity ของ Bitcoin โดยประเมินราคาจากความสัมพันธ์ของ “มูลค่าในตลาด” เทียบกับปริมาณที่จะผลิตออกมาใหม่ในแต่ละปี ซึ่งก็คือจำนวน Bitcoin ที่ทยอยออกมาทุก ๆ 10 นาที ตอนนี้อยู่ที่ 6.25 Bitcoin และจะลดลงเรื่อย ๆ จากเหตุการณ์ Halving ทุก 4 ปี โมเดลที่ 5 นี้เป็นโมเดลที่ถูกพูดถึงและนำมาศึกษาต่อยอดมากที่สุดเนื่องจาก จับต้องง่ายกว่าและไม่ต้องใช้การตั้งสมมติฐานที่อาจจะคลาดเคลื่อนอีกด้วย ในขณะเดียวกันความแม่นยำในอดีตก็ถือว่าสูงพอสมควร ลองสังเกตุจากภาพประกอบด้านล่างที่เรานำมาจาก งานวิจัยของ JP Morgan
เป็นอย่างไรกันบ้างกับภาคต่อของ Valuation Digital Asset อาจจะดูยากและดูไกลตัวกันไปหน่อย แต่สิ่งที่ต้องการสื่อออกไปก็คือสินทรัพย์ทุกชนิดมีความแตกต่างกัน การประเมินมูลค่าที่เหมาะสมก็แตกต่างกัน ยิ่งถ้าราคา Bitcoin มีความผันผวนมาก นั่นแปลว่ามีโอกาสที่ช่วงเวลานั้นอาจเป็นช่วงที่น่าสนใจเมื่อเทียบ Upside Gain & Downside Risk แล้วเหมาะสมที่เราจะลองใส่เงินบางส่วนเข้ามาในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล