การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

TNN Exclusive

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เปิดหัวสัปดาห์นี้พร้อมกับการประชุมกลุ่ม G7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ เมืองคอร์นวอลล์ (Cornwall) ประเทศอังกฤษ

“คอร์นวอลล์ซัมมิต” นับเป็นการประชุมที่มีสีสันเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากผู้นำ 7 ประเทศแล้ว อังกฤษยังเชิญอินเดีย หนึ่งในประเทศพันธมิตรสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก เข้าร่วมประชุมในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ด้วย

เราได้เห็นพัฒนาการข่าวผลการประชุม และความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตามมาด้วยควันหลงมากมาย ผมขอพาทุกท่านไปเก็บตกกันครับ ...

ความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นผลการประชุมเชิงบวกแรกของกลุ่ม G7 ในครั้งนี้ โดยประเทศสมาชิกประกาศจะบริจาควัคซีนถึง 1,000 ล้านโดส

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในจำนวนนี้ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม G7 ยินดีจะจัดสรรวัคซีนให้ถึง 500 ล้านโดส ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนโครงการโคแว็กซ์ (Covax) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) งานนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับคนในประเทศยากจนที่รอคอยความช่วยเหลืออยู่

ขณะเดียวกัน ของที่ระลึกจากการประชุมในครั้งนี้ก็สร้างสีสันไม่เบาเช่นกัน โดยอังกฤษได้มอบจักรยานที่ถูกสั่งทำพิเศษพร้อมลวดลายเป็นธงชาติอังกฤษที่ตัวถัง นัยว่านอกจากมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมแล้ว ยังสะท้อนถึงจุดยืนที่กลุ่ม G7 สนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาด และการแก้ไขปัญหาโลกร้อนควบคู่ไปด้วย

แต่กระแสข่าวดังกล่าวถูกกลบลงเสียเกือบหมดสิ้น เมื่อมีการแถลงข่าวผลการประชุมในวันสุดท้ายของการประชุม ในวันนั้น สหรัฐฯ ได้นำเสนออภิมหาโครงการ “Build Back Better World” ที่ใช้ตัวย่อว่า “B3W” (ทริปเปิ้ลบีดับเบิ้ลยู) เป็นครั้งแรก

โครงการ “กลับมาสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม” ถือเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการเชื้อเชิญให้ประเทศพันธมิตรกลับมาร่วมมือกันเพื่อเดินหน้าแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโลกครั้งใหม่

จากข้อมูลข้อเสนอโครงการของสหรัฐฯ นักวิชาการประเมินว่า การดำเนินโครงการจะนำไปสู่การจัดสรรสินเชื่อแก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลางเป็นเงินรวมถึง 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2035 ซึ่งถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่สุดของสหรัฐฯ นับแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในด้านหนึ่ง เราต้องชื่นชมว่า โจ ไบเดน ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญและวางแผนเป็นอย่างดีกับการประชุม G7 ในรอบนี้ ไม่เพียงเพราะนี่เป็นการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศของตนเองเป็นครั้งแรก แต่ยังใช้โอกาสนี้ในการ “สมานแผล” ที่เกิดขึ้นจากการลดระดับความร่วมมือกับพันธมิตรเดิมในยุคของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์อีกด้วย

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังสร้างกระแสความฮือฮาออกไปทั่วโลกด้วยการเปิดตัวโครงการยักษ์ดังกล่าวที่อาจจะช่วยให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกลับมามีอิทธิพลเหนือชาวโลกอีกครั้ง โดยกระแสข่าวระบุว่า โครงการได้รับเสียงตอบรับจากบางประเทศสมาชิก G7 ซึ่งช่วยกู้ภาพลักษณ์ผู้นำโลกของสหรัฐฯ ให้กลับมาได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ดูโดดเด่นเป็นสง่าในเวทีโลก

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า “B3W” เป็นโครงการที่สหรัฐฯ ต้องการเอามาต่อกรกับโครงการ “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt & Road Initiative) ที่ สี จิ้นผิง ผู้นำจีน นำเสนอไว้ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน

เพียงแต่ในกระดานนี้ สหรัฐฯ ยอมให้จีนขยับหมากเล่นเกมส์รุกก่อน และผลจากการผลักดันอย่างจริงจังของจีน และประโยชน์อย่างแท้จริงของโครงการ ก็ทำให้โครงการ BRI รุดหน้าไปอย่างมาก และนำไปสู่ความร่วมมือของกว่า 100 ประเทศในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งทำให้สหรัฐฯ อยู่เฉยไม่ได้

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง การเชิญชวนให้ประเทศพันธมิตรกลับมาสวมวิญญาณ “ช่างก่อสร้าง” เพื่อฟื้นฟูบ้านที่ประเทศเหล่านั้นเคยร่วมกันออกแบบ ก่อสร้าง และทำลายด้วยน้ำมือของตนเองในตลอดกว่า 70 ปีนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

ขณะเดียวกัน การประชุมในครั้งนี้ก็อาจดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ เมื่อเราเห็นเหล่าหัวขบวนของอุตสาหกรรมโลกบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปรวมตัวกันที่อังกฤษเพื่อใช้เวทีการประชุม G7 พูดเกี่ยวกับจีน ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การเปิดเกมส์ในครั้งนี้ยังถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนการ “รุมกินโต๊ะจีน” ที่อังกฤษ โดยมีสหรัฐฯ เป็นเจ้ามือใหญ่ในการเลี้ยงรับรอง ซึ่งเปรียบได้กับการปลุกลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่หลังจากที่เหตุการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับจีนเมื่อ 120 ปีก่อน

การปล่อยสินเชื่อในโครงการ “B3W” ก็ยังอาจทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตร “ขว้างงูไม่พ้นคอ” เพราะข้อสังเกตที่เคยตั้งไว้เกี่ยวกับการสร้าง “กับดักหนี้” กับประเทศยากจนที่เข้าร่วมโครงการ BRI ก็อาจเกิดขึ้นกับโครงการใหม่นี้เช่นกัน

แถมการประกาศวงเงินสินเชื่อของโครงการเฉลี่ยถึงปีละ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 15% ของขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในตลอด 13 ปีข้างหน้า บวกกับเม็ดเงินในโครงการอื่นของสหรัฐฯ ที่ต้องการอัดเงินอีกหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกเกิด “ฟองสบู่” และเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งหากมองไปข้างหน้าเมื่อ โจ ไบเดน ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งในอนาคต และผู้นำใหม่ไม่สานต่อการดำเนินโครงการนี้ โครงการนี้ก็อาจล้มพับ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาในระยะยาวของหลายประเทศที่เข้าร่วมโครงการ และเศรษฐกิจโลกโดยรวม

คำถามสำคัญตามมาก็คือ แล้วภายหลังข่าวนี้ออกมา จีนมีปฏิกิริยาอย่างไร ผ่านมา 2 วัน รัฐบาลจีนก็ออกมาแสดงจุดยืนและท่าทีในทันทีและต่อเนื่อง ทั้งผ่านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน และเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน รวมทั้งบทวิเคราะห์ผ่านสื่อหลักในจีน

แน่นอนว่า จีนไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวที่สหรัฐฯ เสนอ และหากเรามองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็อาจพบว่า จีนหันมาใช้แนวทาง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้นโดยลำดับ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังออกมาแถลงข่าวด้วยคำพูดหนักๆ ว่า สหรัฐฯ “ป่วยหนัก” และจำเป็นต้องได้รับ “การบำบัด” ขนานใหญ่ ประเทศสมาชิกของกลุ่ม G7 ควรตรวจดูอาการของสหรัฐฯ และรีบรักษาอาการโดยด่วน

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนพยายามเรียกร้องความร่วมมือและความเสมอภาคในการปฏิบัติระหว่างกัน โดยไม่แยกขนาด ฐานะทางเศรษฐกิจ ระบอบการปกครอง และความพร้อม ระเบียบสังคมโลกที่ “ประเทศหรือกลุ่มประเทศใดจะยึดกุมอำนาจและมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่นได้สิ้นสุดลงแล้ว” และยังตอบโต้กลุ่ม G7 ว่าบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับซินเจียงและฮ่องกง รวมทั้งการปฏิบัติทางการค้า และมาตรฐานด้านเทคโนโลยี

อีกประเด็นสำคัญ ก็คือ โครงการ “B3W” จะเป็นการเติมเชื้อไฟที่เพิ่มอุณหภูมิความร้อนแรงของ “การแยกขั้ว” ของโลกหรือไม่

บ่อยครั้งที่การเข้ามาดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศในระยะแรก มักจะตามมาด้วยความพยายามในการจุดประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน ผ่านการปลุกกระแสความรักชาติ และโจ ไบเดน ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะควันหลงพัดกลับไปปลุกกระแสความเกลียดชังชาวเอเซียในสหรัฐฯ อีกหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบเสรีที่โลกยึดถือมาในช่วง 3 ทศวรรษ ก็อาจทำให้ “การแยกขั้ว” ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก

ใช่ว่าทุกประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 จะเห็นด้วยกับแนวทางและโครงการที่สหรัฐฯ นำเสนอ อิตาลีและเยอรมนีต่างแสดงความกังวลใจว่า การใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าวอาจส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องไปยังจีน และอาจเป็นการยั่วยุจีนให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่พึงประสงค์

แองเกลลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี ก็ต้องการให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุล เพราะแม้ว่าในด้านหนึ่งจีนเป็นคู่แข่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรอยู่ด้วย

การต่อกรครั้งใหม่ระหว่างพญาอินทรีย์กับมังกร ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ขณะที่ เอ็มมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เห็นว่า G7 ต้องการพัฒนาความร่วมมือกับจีนในหลายประเด็น อาทิ สภาพอากาศ การค้า การพัฒนา และอื่นๆ แม้ว่าสองฝ่ายอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็เรียกร้องให้กลุ่มต้องวางตนว่า “G7 ไม่ใช่กลุ่มที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับจีน”

แถมหากติดตามข่าว ก็อาจพบว่า ในเช้าตรู่จนถึงช่วงสายของวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา กองทัพจีนก็ส่งเครื่องบินรบถึง 28 ลำบินวนใน “พื้นที่สีเทา” ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน การแสดงแสนยานุภาพของฝูงบินจีนในครั้งนี้คงมุ่งหวังผลทางการเมืองมากกว่าการทหาร

กองทัพจีนชิงเอาเครื่องบินรบขึ้นแสดงแสนยานุภาพในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ และชาติตะวันตกว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน และตอบโต้การที่สหรัฐฯ เคยเอาเรือรบและเครื่องบินมาป้วนเปี้ยนในย่านนี้ในช่วงที่ โจ ไบเดน เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง และอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา

นักวิเคราะห์บางส่วนยังตั้งข้อสังเกตว่า จีนกำลังจับจังหวะของการสานสัมพันธ์กับไต้หวันครั้งใหม่ โดยจะผ่อนคลายให้เป็นโทนของ “ความรัก ความผูกพัน” ระหว่างกันให้มากขึ้น

หากเราพิจารณาความขัดแย้งระหว่างพญาอินทรีและมังกร ก็อาจพบว่า “การแยกขั้ว” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนับแต่ โจ ไบเดนก้าวขึ้นรับตำแหน่ง และดูเหมือนสหรัฐฯ และพันธมิตรโต้กลับจีนหลังจากที่เสียเชิงจากการประชุมที่อลาสก้าและกรณีฝ้ายซินเจียงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน แต่เราก็ไม่อาจกระพริบตาได้ เพราะโมเมนตัมก็พร้อมจะแกว่งกลับไปมาดั่งลูกตุ้ม

ตอนต่อไป เราจะเชิญชวนท่านผู้อ่านไปติดตามควันหลงการประชุมนาโต้กันครับ ...


ข่าวแนะนำ