TNN ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือ"ฮวย จุ่ง ล้ง" #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ

TNN

TNN Exclusive

ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือ"ฮวย จุ่ง ล้ง" #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ

ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ

วันหยุดไม่อยากไปไหนไกล ชวนเที่ยวในกรุงเทพฯกับแหล่งท่องเที่ยวสไตล์ Heritage ย้อนยุคแบบสุดชิคที่ "ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือ ล้ง 1919 ย่านฝั่งธนบุรี

ในช่วงวันหยุดยาวมาฆบูชา เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเหนื่อยถ้าต้องขับรถเดินทางออกไปเที่ยวไกลๆ วันนี้ TNN ONLINE  จึงมีแหล่งท่องเที่ยวในกรุงเทพฯสไตล์ย้อนยุคแบบจีนๆ  มาแนะนำ 

สถานที่ท่องเที่ยวที่ว่านี้ ก็คือ ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หรือในปัจจุบันคือ ล้ง 1919 สถานที่ท่องเที่ยวแนวศิลปะร่วมสมัยซึ่งน่าสนใจมากๆ ด้วยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใกล้ไม่ไกลในย่านฝั่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตลาดน้อย เป็นที่เที่ยวแนว Heritage หลังจากที่มีการบูรณะ และพลิกฟื้นอดีตท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ท่าเรือกลไฟริมแม่น้ำเจ้าพระในอดีตให้เป็นที่ท่องเที่ยวสุดชิคช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น 

ที่มาของ “ล้ง 1919 “

ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้ ที่มาชื่อว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า  火 船 廊  หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี”  ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย - เยาวราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) โดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม  โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์  

ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ

สำหรับท่าเรือ ล้ง1919 มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร  สมัยก่อนจะเป็นท่าเรือสำหรับเรือกลไฟ หรือเรือโดยสาร หรือเรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย และได้มาเทียบท่าเรือขึ้นฝั่งที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น อีกด้วย 

ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อย ๆ ลดบทบาทลง ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล “หวั่งหลี” โดยนาย ตัน ลิบ บ๊วย จึงได้เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือฯ ดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานของตระกูลหวั่งหลี รวมถึงเก็บรักษาศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ

มุมถ่ายรูป หรือคาเฟ่ ร้านอาหาร ลานกิจกรรม นิทรรศการศิลปะ

ด้านในพื้นที่ 6 ไร่ของล้ง 1919 ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวย้อนยุคธรรมดาๆ แต่ว่าได้ปรับปรุงให้เป็นเหมือนแลนด์มาร์คอีกหนึ่งแห่งของย่านฝั่งธนฯ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เป็นมุมยอดฮิตของนักท่องเที่ยว  ทั้งยังรวมเอาสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ผสานให้เข้ากับศิลปะแบบจีนๆโบราณๆ แต่ทันสมัย ข้างในจึงมีทั้งคาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ลานจัดอีเวนท์ หรือแม่แต่โรงละคร โรงงิ้ว ให้ได้สัมผัสบรรยากาศจีนๆในสมัยก่อนด้วย

ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ

กรมเจ้าท่าจับมือกับผู้ให้บริการเรือข้ามฟาก เปิดจุดเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำ

เมื่อช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา กรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับบริษัท ซิโนพอร์ท จำกัด เปิดให้บริการท่าเรือสำหรับให้บริการเรือโดยสารข้ามฟากเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนย่านฝั่งธนกับชุมชนย่านตลาดน้อยฝั่งพระนคร  โดยใช้ท่าเรือกรมเจ้าท่า เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ ระหว่าง ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง 1919) - ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือปากคลองสาน  และในอนาคตจะเพิ่มจุดเชื่อมต่อ ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือภานุรังษี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการสัญจรทางน้ำ และนักท่องเที่ยวด้วย

การเดินทางไปท่าเรือ "ล้ง 1919"

 สามารถนั่ง เรือด่วนเจ้าพระยา (ธงทุกสี รวมถึงไม่มีธง) มาที่ ท่าเรือราชวงศ์ แล้วข้ามฟากมายัง ท่าดินแดง หรือลงที่ ท่าเรือสี่พระยา แล้วข้ามฟากมายัง ท่าเรือคลองสาน ได้เลย 

สำหรับการข้ามฟากจากฝั่งพระนครมาที่ ล้ง 1919 มีท่าเรือที่ใกล้เคียง 5 จุด ได้แก่

  •  ท่าเรือราชวงศ์ - ท่าเรือดินแดง
  • ท่าเรือสวัสดิ์ - ท่าเรือวัดทองธรรมชาติ (เป็นจุดที่ใกล้ล้งที่สุด)
  • ท่าเรือสี่พระยา - ท่าเรือคลองสาน
  • ท่าเรือโอเรียนเต็ล - ท่าเรือวัดสุวรรณ
  • ท่าเรือสาทร – ท่าเรือเป๊ปซี่

เมื่อข้ามฟากมาฝั่งธนฯ เเล้ว ต่อแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ มาที่ ถ.เชียงใหม่ (หน้าปากซอยมีป้ายวัดทองธรรมชาติ) เข้ามาประมาณ 400 เมตร ก็ถึง ล้ง 1919 แล้ว หรือจะใช้บริการรถประจำทางก็ได้โดยมีสายที่ผ่านได้แก่ 6 - 43 - 88 - 167 - 120 - 57  


ชวนเที่ยวย้อนยุคท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง #ล้ง1919 แบบชิคๆในกรุงเทพฯ

หรือจะสะดวกหน่อยก็เดินทางโดยรถไฟฟ้าได้ทั้ง BTS และ MRT ถ้าเดินทางด้วย BTS ให้ลงสถานี สะพานตากสิน หลังจากนั้นลงจากสถานีทางออก 2 มาที่ท่าเรือสาทร แล้วขึ้นเรือของล้ง หรือ ข้ามฟากไปยังท่าเรือเป๊ปซี่ แล้วต่อรถอีกนิด  หรือหากลง กรุงธนบุรี  ให้ออกทางออก 2 มาที่ป้ายรถประจำทาง สำนักงานสินสาทร ขึ้นรถเมล์สาย 84 มาลงที่ ป้ายรถประจำทาง ท่าน้ำคลองสาน 1 แล้วเดินอีก 850 เมตร หรือถ้าจะเลือกต่อแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ ให้ลงสถานีทางออก 3 ก็ได้เช่นกัน 

ส่วน เดินทางด้วย MRT ให้ลงหัวลำโพง ขึ้นจากสถานีทางออก 4 ต่อแท็กซี่หรือวินมอเตอร์ไซค์ มาลงที่ท่าเรือสวัสดิ์ แล้วข้ามฟากมายังท่าเรือวัดทองธรรมชาติ ก็จะถึง ล้ง 1919 เลย 

ภาพประกอบ:FB LHONG 1919


ข่าวแนะนำ