เศรษฐกิจจีนในปี 2021 ... เผชิญศึกหลายด้าน
เศรษฐกิจจีนในปี 2021 ... เผชิญศึกหลายด้าน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร “รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน”
ผมหันรีหันขวางอยู่หลายเรื่อง ตั้งสติได้ก็พบว่า วันขึ้นปีใหม่ วันเด็ก และวันครูของปีวัวผ่านไปซะแล้ว เดือนแรกของปีใหม่งวดลงทุกที และกำลังจะเข้าสู่ช่วงฉลองเทศกาลตรุษจีนกันอีกแล้ว ...
เศรษฐกิจจีนในปี 2020 สอบผ่านได้อย่างน่าชื่นชมด้วยอัตราการเติบโตโดยรวมที่ 2.3% เมื่อเทียบกับของปีก่อน แม้ตัวเลขอาจไม่สวยหรูดังเช่นในอดีตแต่ก็ต้องถือว่ายอดเยี่ยม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่รุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจจีนดิ่งหัวในไตรมาสแรก และสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องในรูป “ตัววีหางยาว” หรือ “เครื่องหมายถูก” ได้
จีนกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่เพียงแห่งเดียวในปี 2020 ที่มีอัตราการขยายตัวเป็นบวก เทียบกับการหดตัวของเศรษฐกิจของโลกที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว -4.5% ของปีก่อน ซึ่งนับว่าต่ำสุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าว ขนาดเศรษฐกิจจีนก็เพิ่มขึ้นเป็นราว 14.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ ผู้นำเศรษฐกิจโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
สำหรับผมแล้ว ขอยกรางวัลตุ๊กตาทองให้แก่การจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่เป็นพระเอกและพระรองในปีที่ผ่านมา
แล้วหมอดูทางเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจีนจะเติบโตเท่าไหร่ในปี 2021 …
องค์การระหว่างประเทศและสถาบันต่างๆ ซึ่งมีสมมุติฐานและเหตุผลความท้าทายที่แตกต่างกันคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2021 ว่าอยู่ระหว่าง 7.8-8.2% ของปีก่อนเป็นส่วนใหญ่ แต่มีรายหนึ่งที่มองโลกในแง่ดีมาก และมองไกลไปถึงอัตรา 9% สรุปได้ดังนี้
- สถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (CASS) 7.8%
- ธนาคารโลก (World Bank) 7.8%
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 7.9%
- องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) 8.0%
- ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ (Standard Chartered Bank) 8.0%
- อ๊อกฟอร์ด (Oxford) 8.1%
- นิกเคอิ (Nikkei) 8.2%
- โนมูระ (Nomura)/บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (CICC) 9.0%
แม้ว่าจีนจะไม่ได้ประกาศตัวเลขเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ออกมาอย่างเป็นทางการดังเช่นที่ถือปฏิบัติในอดีต แต่ผมเชื่อว่า รัฐบาลจีนจะพยายามขยายการเติบโตในปีนี้เพื่อชดเชยกับสิ่งที่หดหายไปในปีที่ผ่านมา และรักษาสมดุลและเป้าหมายขนาดเศรษฐกิจในระยะยาว
บนพื้นฐานของหลักการดังกล่าวสมมุติว่าจีนในปี 2021 เติบโตในอัตราราว 8%ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2020-2021 จะเติบโตเฉลี่ยกว่า 5% ต่อปี ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลจีนน่าจะพึงพอใจ และเป็นไปได้สูงที่จะสามารถบรรลุได้
แล้วรัฐบาลจีนวางแผนจะใช้กลไกอะไรในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ...
การปฏิรูปภาคอุปสงค์(Demand-side Reform) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ปฏิรูปด้านอุปทาน(Supply-side Reform) มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับด้านอุปสงค์มากขึ้นโดยลำดับส่งผลให้สัดส่วนของภาคการบริโภคภายในประเทศต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจนไปอยู่ที่ระดับ 55% ในปี 2019
อย่างไรก็ดี กำลังซื้อภายในประเทศของจีนหดหายไปมากเมื่อจีนเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ในครึ่งแรกของปี 2020 รัฐบาลจีนใช้สารพัดมาตรการและกิจกรรม/โครงการจนสามารถกู้สถานการณ์ให้ภาคการค้าปลีกและการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยไม่ได้ใช้วิธีการแจกเงิน
แม้กระทั่งยอดขายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย รถยนต์ และที่พักอาศัยก็พุ่งสูงขึ้นแบบน่าตื่นตะลึง ทั้งนี้ การค้าออนไลน์ผ่านการไลฟ์สตรีม (Livestreaming) กลายเป็นโมเดลใหม่ที่สร้างสีสันในวงการค้าปลีก เจ้าของและซีอีโอของหลายกิจการในจีนต่างออกหน้าจอคอมพิวเตอร์ไลฟ์สดแนะนำและจำหน่ายสินค้าและบริการของตนเองในข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ
เพื่อลดแรงกดดันจากสภาวะที่ปัจจัยแวดล้อมระหว่างประเทศที่แฝงไว้ซึ่งความผันผวนและเปราะบางในปี 2021 จีนจึงให้ความสำคัญกับภาคการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น โดยประกาศปฏิรูปภาคอุปสงค์ผ่านกลยุทธ์ “วงจรคู่” (Dual Circulation) ที่เพิ่มระดับการพึ่งพากำลังซื้อและนวัตกรรมภายในประเทศมากขึ้นควบคู่ไปกับภาคการต่างประเทศที่เคยเป็นตัวหลักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งสัญญาณไปยังนานาประเทศว่า จีนจะยืนบนลำแข้งของตนเองมากขึ้น จีนจะลดระดับการพึ่งพาสินค้าไฮเทค สินค้าเกษตร พลังงาน แร่ธรรมชาติ และอื่นๆ ของต่างประเทศแล้ว ยังสะท้อนถึง “การเติบโตจากภายใน” ในระดับที่สูงขึ้นในเชิงเปรียบเทียบซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาฐานการผลิตและอุปสงค์ในสินค้าจีนจำนวนมหาศาลในอนาคต
ขณะเดียวกัน แม้ว่าจีนจะประกาศความสำเร็จในการขจัดปัญหาความยากจนให้หมดจากแผ่นดินจีนเมื่อปีที่ผ่านมา แต่จีนก็ยังเผชิญกับปัญหาช่องว่างระหว่างคนที่มีรายได้สูงและคนที่รายได้ต่ำที่กว้างมากขึ้น การกระจายรายได้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจีนเพื่อให้การฉลอง 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ
ผมยังคาดว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการด้านภาษีเพื่อเพิ่มรายได้และการจับจ่ายภาคครัวเรือน ผ่านการกระตุ้นตลาดแรงงานเพื่อลดอัตราการว่างงานในชุมชนเมืองให้ต่ำกว่า 5% ในปีนี้
การลงทุนในสินทรัพย์คงที่การรักษาห่วงโซ่อุปทานภายในจีนให้เชื่อมต่อกันไว้อย่างเหนียวแน่นทำให้ภาคการผลิตเต็มไปด้วยพลังเสริมต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเมื่อปีก่อน ขณะที่ภาคการผลิตของหลายประเทศหยุดชะงักลง จีนกลับกลายเป็นฐานการผลิตที่พร้อมสรรพและโดดเด่น ซึ่งผลักดันต่อไปยังภาคการส่งออก และยังช่วยเรียกความมั่นใจในการลงทุนของภาคเอกชนทั้งจีนและต่างชาติได้เป็นอย่างมาก
แต่ในปีนี้ กลุ่ม SMEsจีนก็ยังไม่น่าไว้วางใจมากนักรัฐบาลจีนส่งสัญญาณตั้งแต่ต้นปีที่จะให้ความสำคัญอย่างมากกับการพยุงสถานะของ SMEs โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่ SMEs อาทิ การผ่อนปรนระยะเวลาการชำระสินเชื่อที่ครบกำหนด และการขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อ ขณะที่บางกระทรวงก็จัดสรรโครงการจัดซื้อของภาครัฐให้แก่ SMEs
นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แบ้งค์ชาติจีนยังเสริมสภาพคล่องระลอกแรกของปี ด้วยการอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านสินเชื่อระยะกลาง 950,000 ล้านหยวน
โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก และกระตุ้นอุปสงค์ของสินค้าจำนวนมากเช่นกัน อาทิ ขนมขบเคี้ยว ของตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ขนาดใหญ่ และอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ที่ต้องทนอุดอู้อยู่ในที่พักอาศัยขนาดเล็กก็ทำให้คนจีนต่างมองหาบ้านใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนของภาครัฐขณะที่หลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจของจีนแทบหยุดชะงักในช่วงครึ่งแรกของปี 2020จีนได้ใช้การลงทุนของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รัฐบาลจีนได้สั่งการให้เร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ โครงข่ายโทรคมนาคม 5G และรถไฟความเร็วสูง เฉพาะในปี 2020 จีนก่อสร้างเส้นทางรถไฟรวมความยาวถึง 4,000 กิโลเมตร!
การประกาศขายพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลเมื่อต้นปีสะท้อนว่า จีนจะยังคงใช้การลงทุนของภาครัฐเป็นกลไกหลักต่อไปในปี 2021 โดยอาจดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดั้งเดิมไปสู่ด้านสิ่งแวดล้อมและเชิงสังคมมากขึ้น
ภาคการค้าระหว่างประเทศ จีนจะยังคงสานต่อโมเมนตัมการส่งออกในกลุ่มเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ที่สร้างไว้เมื่อปีก่อน
การเริ่มฉีดวัคซีนน่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าอื่นของจีน
ขณะเดียวกัน ก็จะเร่งขยายการส่งออกสินค้าและบริการแห่งโลกอนาคตที่จีนพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำโลก อาทิ รถยนต์หลังงานรูปแบบใหม่ บริการ 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โรงงานอัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ
ความท้าทายที่รออยู่ในปีวัว ... แกว่งตัวและเต็มไปด้วยความท้าทายในด้านหนึ่ง เศรษฐกิจจีนในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กำลังซื้อภายในประเทศค่อยๆ กระเตื้องขึ้น การส่งออกขยายตัวแรงและอัตราการว่างงานลดต่ำลง
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะทำงานกลางด้านเศรษฐกิจแห่งชาติ (Central Economic Work Conference: CEWC)ที่มีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โพลิตบูโรเป็นประธาน พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็มีความเห็นว่า การรักษา “ทรง” ของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ทำมาในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นแนวทางที่ดีสำหรับปี 2021 สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มพลังการบริโภคและการลงทุนในจีนในระยะยาว
ประการสำคัญ ทางการจีนก็ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วนับแต่ต้นปี 2021 และคาดว่าจะกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ภายในครึ่งแรกของปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ช่วยเติมพลังเศรษฐกิจ และพลิกฟื้นหลายธุรกิจที่ห่อเหี่ยวเมื่อปีก่อนให้กลับมากระชุ่มกระชวยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบิน
ในทางกลับกัน เริ่มต้นปีใหม่จีนก็ประสบสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด และปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ตอนเหนือของจีน แม้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในพื้นที่ แต่ก็สร้างความกังวลใจและกระทบต่อไปยังภาคการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ปัญหาหนี้สินต่อจีดีพีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นระเบิดลูกใหม่ของจีน
นอกจากนี้ จีนมีแนวโน้มสูงว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายเดิมในรูปแบบใหม่อย่างเทรดวอร์ และเทควอร์ภายใต้นโยบายของโจไบเดน ประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ
ในส่วนตัว ผมยังมองว่าประธานาธิบดีโจไบเดนจะไม่เปิดศึกหลายด้านในระยะแรกหลังการเข้ารับตำแหน่งและรอจนกว่าจะมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งทางความคิดของผู้คนในประเทศได้เรื่องนี้อาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญของจีนในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยสรุป จีนโบกมือลาปี 2020 พร้อมกับแนวโน้มการฟื้นตัวของหลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจ รัฐบาลจีนส่งสัญญาณว่าจะรักษาทรงและสานต่อโมเมนตัมดังกล่าวไว้ในช่วงปี 2021 แต่ดูเหมือนเศรษฐกิจจีนในปีนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย และจำเป็นที่จีนจะต้องปรับจูนมาตรการเศรษฐกิจให้สอดรับและทันกับสถานการณ์ที่แฝงไว้ซึ่งความผันผวนยิ่งอยู่เสมอ
เรามาลุ้นกันว่า เศรษฐกิจจีนในปีวัวจะสามารถทำสถิติใหม่เติบโตสูงกว่า 9.6% เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษได้หรือไม่ ...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อาณาจักรของแอ๊นท์ในอุ้งมือมังกร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE