จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าล็อกดาวน์จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด
เปิดคาดการณ์ผลกระทบกรณีล็อกดาวน์พื้นที่แพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรง พร้อมเผยรายได้ต่อหัว 5 จังหวัดสั่งควบคุมสูงสุดต่อปีสูงเท่าไร?
หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมายืนยันแล้วว่าในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รอบนี้จะไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่ได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดโควิด -19 ใน 5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ และล่าสุดยังได้ประกาศยกระดับการควบคุมทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวเพื่อมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย
แต่ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าวอาจจะหยุดชะงัก ผู้ประกอบการ ไปจนถึงประชาชน แรงงานจะขาดรายได้ ดังนั้น เราจึงได้รวบรวมข้อมูลรายได้ต่อหัวของประชากรในแต่ละจังหวัดมาฝากกัน
จังหวัดสมุทรสาคร นับได้ว่าเป็นจังหวัดต้นตอของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ก่อนที่จะขยายวงกว้างไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยข้อมูลจากสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปี 2561 ประชาชนในจังหวัดมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีประมาณ 389,818 บาท สูงเป็นอันดับ 8 ของประเทศ และเนื่องจากจังหวัดมีโรงอุตสาหกรรมจำนวนมาก แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจึงมีจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งสมุทรสาครมีแรงงานทั้งหมด 345,284 คน แบ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ 239,752 คน หรือ คิดเป็น 69.44% และ แรงงานไทย 105,532 คน หรือ 30.56% อีกทั้งยังมีตลาดทะเลไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพืชเศรษฐกิจจำนวนมากสร้างรายได้ให้กับภาคการเกษตรได้อีกด้วย
ข้อมูลจากศูนย์พยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังพบว่า ในปี 2562 เฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาครมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ขยายตัวกว่า 2.47% เมื่อเทียบกับจีดีพีรวมทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 417,475 ล้านบาท
ส่วนปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว คิดเป็น 2.48% (ประมาณการณ์ก่อนเกิดรอบใหม่) เมื่อเทียบกับจีดีพีรวมทั้งประเทศ คิดเป็นมูลค่า 392,931 ล้านบาท ซึ่งกรณีรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ คาดว่า จะทำให้จังหวัดสูญเสียรายได้ประมาณ 343 ล้านบาท/วัน หรือคิดเป็น 0.002%/วัน
หากประกาศล็อกดาวน์ 1 เดือน จะสูญเสียรายได้ประมาณ 10,283 ล้านบาท หรือ 0.061% ต่อจีดีพีรวมของประเทศ
ส่วนในจังหวัดอื่นๆ อีก 4 จังหวัดที่รัฐบาลประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโควิด -19 ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด นั้น ตามฐานข้อมูลของ สศช. ในปี 2561 พบว่า จังหวัดระยอง (GPP) สูงที่สุดในประเทศไทย คือ 1,045,697 ล้านบาท และรายได้ประชากรต่อหัวยังสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ที่ 1,067,449 บาท/คน/ปี หรือ คิดเป็นเดือนละ 88,954 บาท/คนเลยทีเดียว
ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก ระยองเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากจึงเกิดการจ้างงานที่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆที่เป็นภาคการเกษตร แต่ก็ยังมีพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาล ผลผลิตด้านประมงและปศุสัตว์ ที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัด ตลอดจนมีสถานที่ท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่ท่องเที่ยวทางทะเลจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมระยองจึงเป็นจังหวัดที่มีรายได้สูงที่สุดของประเทศ
จังหวัดชลบุรี จากฐานข้อมูลของ สศช. ในปี 2561 พบว่า ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 566,801 บาท /คน/ปี สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองอุตสาหกรรม และเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ แต่ในปี 2562 ตามข้อมูลของจังหวัดชลบุรี(chonburi.cdd.go.th ) พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชลบุรีอยู่ที่ 143,407 บาท/ปี
จังหวัดจันทบุรี ฐานข้อมูลของ สศช. ในปี 2561 พบว่า ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 389,818 บาท /คน/ปี สูงเป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ โดยป็นจังหวัดจันทบุรีที่มีชื่อเสียงเรื่องผลไม้ และยังเป็นแหล่งผลิตผลไม้แหล่งใหญ่ของประเทศ รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยว และอัญมณี
และจังหวัดตราด จังหวัดสุดท้ายที่รัฐบาลจัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโควิด-19 ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 161,322 บาท /คน/ปี สูงเป็นอันดับที่ 22 ของประเทศ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการค้าชายแดน การท่องเที่ยว การเกษตร ที่มีผลไม้ และยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE