TNN จากภัยพิบัติถึงความมั่นคงอาหาร วิกฤตสิ่งแวดล้อม 2568 ไทยเสี่ยงระอุ 45 C°

TNN

TNN Exclusive

จากภัยพิบัติถึงความมั่นคงอาหาร วิกฤตสิ่งแวดล้อม 2568 ไทยเสี่ยงระอุ 45 C°

จากภัยพิบัติถึงความมั่นคงอาหาร วิกฤตสิ่งแวดล้อม 2568 ไทยเสี่ยงระอุ 45 C°

ภัยพิบัติที่รุนแรงเกินพิกัด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ล้วนเป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจากโลกร้อน ขณะที่นักวิชาการต่างมองว่าความรุนแรงของภัยธรรมชาติในปี 2567 เป็นเพียงแค่สัญญาณเตือน หรือ ที่มักถูกเปรียบว่าเป็นแค่ “เผาหลอก” เพราะความหนักหน่วงที่แท้จริงจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวนจะเริ่มต้นขึ้นในปี 2568

ในปี 2567 ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีที่ไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติรุนแรง ทั้งเหตุดินโคลนถล่มเชียงราย อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ที่เผชิญกับมรสุมจนถึงเดือนสุดท้ายของปี ไปจนสภาพของระบบนิเวศทะเลที่ทรุดโทรมจากปัญหาปะการังฟอกขาว ไปจนถึงแหล่งหญ้าทะเลที่ลดจำนวนลงไปมหาศาลจนนำมาสู่การตายของพะยูนไทย ไม่ต่ำกว่า 48 ตัว ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 


ภัยพิบัติที่รุนแรงเกินพิกัด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ล้วนเป็นผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจากโลกร้อน ขณะที่นักวิชาการต่างมองว่าความรุนแรงของภัยธรรมชาติในปี 2567 เป็นเพียงแค่สัญญาณเตือน หรือ ที่มักถูกเปรียบว่าเป็นแค่ “เผาหลอก” เพราะความหนักหน่วงที่แท้จริงจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวนจะเริ่มต้นขึ้นในปี 2568 


TNN Online รวบรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2568 ที่น่าจับตา และ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โลกของเราไม่เหมือนเดินอีกต่อไป 


ไทยเสี่ยงอากาศร้อนทะลุ 45 องศา 

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย อ้างอิงข้อมูลจากองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก(The World Meteorological Organisation หรือWMO) ที่คาดการณ์ว่าภาวะLa Niña (ลานีญา) จะยังมีอิทธิพลในพื้นที่เอเชียระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีผลให้เกิดฝนตกในพื้นที่เอเชียใต้และพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ทำให้มีอากาศเย็นลงและสภาวะลานีญาจะเริ่มอ่อนกำลังลงเริ่มเข้าสู่ภาวะเอลนีโญระดับต่ำถึงระดับปานกลาง (55%) ในช่วงต้นเดือนมีนาคมอุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้นเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2568 

โดยคาดว่าในปี 2568 ประเทศในแถบเอเซียจะมีอุณหภูมิสูงสุดในรอบทศวรรษทศวรรษโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรจะประสบสภาวะแห้งแล้งมากกว่าสภาวะปกติ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของความชื้นและลม คาดว่าประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 45 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อนโดยสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา



โลกเดือดคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ 


ผลการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งตีพิมพ์ผ่านวารสาร Scinece เมื่อเดือนธันวาคม 2567  พบว่า สิ่งมีชีวิตเกือบ 1 ใน 3 สายพันธุ์ อาจเสี่ยงสูญพันธุ์ไปจากโลกภายในปี 2100 หากเรายังไม่สามารถหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้ โดยถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกทะลุเกิน 1.5 องศาฯ 


โดยทีมวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพร้อมทำการประเมินความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ ในแต่ละระดับของอุณหภูมิโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งพบว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ย อยู่ที่ 1.3 องศาฯ อัตราการสูญพันธุ์จะอยู่ที่ 1.6% ภายในปี 2100 แต่ถ้าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยแตะไปถึง 1.5 องศาฯ อัตราการสูญพันธุ์จะขึ้นไปอยู่ที่ 1.8% 


ขณะที่สถานการณ์ของไทยเองก็เริ่มพบข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะผลกระทบอย่างรุนแรงในระบบนิเวศทางทะเลเริ่มตั้งแต่ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวกว่า 90% ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยเผชิญ นำไปสู่ความเสียหายของปะการังในบริเวณน้ำตื้นตายไปจำนวนมาก มากกว่า 50-60% นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนสถิติการตายของพะยูนในประเทศไทยปี พ.ศ. 2567 ที่เพิ่มสูงขึ้นมากว่าค่าเฉลี่ยราว 4 เท่า 


จากข้อมูลของ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่าจำนวนพะยูนตายในปี 2567 ไม่ใช่ 45 ตัว แต่เป็น "อย่างน้อย 48 ตัว" หลังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าพะยูนทำการอพยพหนีตายออกจากทะเลไทย เมื่อแหล่งอาหารอย่างหญ้าทะเลลดจำนวนลงอย่างมหาศาล  


โดยเมื่อนับรวมกับข้อมูลการพบพะยูนในพื้นที่เกาะลังกาวี จำนวน 2 ตัว และล่าสุดที่เกาะปีนังของมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองพื้นที่ไม่มีการพบพะยุนมาก่อนอย่างน้อยในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา จึงยืนยันได้ค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นพะยูนอพยพ 

สถานการณ์ของพะยูนในปี 2568 จึงน่าเป็นห่วงเพราะแม้พะยูนจะทยอยอพยพเข้าสู่ทะเลพังงา และ ภูเก็ตเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ แต่ก็คาดว่าหญ้าทะเลอาจไม่เพียงพ่อต่อจำนวนประชากรพะยูนที่หลงเหลืออยู่ 

 

ความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน 

ข้อมูลจากศุนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตเกษตรของไทยให้มีความเสี่ยงมากขึ้นจากที่เคยได้เปรียบในการทำการเกษตร สะท้อนจากพืชเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะข้าวและอ้อย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันราว 60% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด  แต่ผลผลิตต่อไร่ยังน้อยกว่าคู่แข่งหลัก และมีแนวโน้มผันผวน หรือ ลดลงตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น 

ขณะที่ ปาล์มน้ำมัน แม้ว่าผลผลิตต่อไร่จะมากกกว่าคู่แข่ง แต่ช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงในช่วงปี 2014-2016 พบว่าผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยลดลง 12% เมื่อเทียบกับปี 2013  


นอกจากนี้ ภาคประมงก็ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจากการรายงานของ Marine Stewardship Council พบว่าผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่เขตร้อนมีแนวโน้มลดลงสูงสุด 40% จากปริมาณผลผลิตปัจจุบัน ภายในปี 2050

นอกจากผลผลิตจะมีความผันผวนจนทำให้เหลือส่งออกได้น้อยลงแล้ว ไทยยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกในประเทศเหล่านี้รวมกันเกือบ 20% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมด โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ได้มีการออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง


ขยะมลพิษร้ายทำลายระบบนิเวศทะเล

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ถอดบทเรียนสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยและสิ่งแวดล้อมโลกที่ทุกคนได้เผชิญตลอดปี 2567 และคาดการณ์สถานการณ์ปี 2568 โดยประเมินว่าในปี 2568 นอกจากไทยต้องเผชิญกับปัญหา มลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM2.5) แล้ว อีกประเด็นที่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย คือ มลพิษจากขยะชุมชน 


โดยประเทศไทยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีขยะประมาณ 24 -25 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปี2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 พบว่า ปัญหาขยะเพิ่มขึ้นถึง 28- 29 ล้านตันต่อปี 


โดยขยะปริมาณมหาศาลอาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น หากการบริหารจัดการขยะบนฝั่งไม่ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำใหะมีขยะไหลลงแหล่งน้ำ ทะเลและเป็นปัญหาสะสม โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกที่สะสมในห่วงโซ่อาหาร และกลับเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ในปี 2568 จะมีกติกาโลกเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติกออกมาควบคุมด้วยที่ประเทศไทย จะต้องเตรียมความพร้อม


ดร.สนธิ ระบุว่า ในปี 2567 ถือเป็นปีที่โลกมีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)จากฟอสซิลสู่บรรยากาศโลกสูงที่สุดและเป็นครั้งแรกที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า1.5 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยมีอุณหภูมิสูงกว่า1.55 องศาเซลเซียสเปรียบเทียบกับอุณหภูมิของโลกในปี 2566 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น1.48 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ขณะที่โลกตั้งเป้าไว้ไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกิน1.5 องศาเซลเซียสในปี 2030 หรือพ.ศ. 2573 (ซึ่งทำไม่ได้ตามเป้าหมาย)และได้ตั้งเป้าให้เป็นNet Zeroหรือไม่ให้มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเลยในปี 2050 หรือ พ.ศ. 2593

โดยคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะประสบภาวะภัยพิบัติเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตรกรรม รวมทั้งมีพายุที่มีความถี่และรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูฝนส่วนฤดูหนาวจะหนาวน้อยลงและสั้นลงกว่าปีนี้



TNNOnline เรียบเรียง 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง