TNN อุดมคติของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" พิทักษ์ประชาธิปไตยจาก “ทรราชย์เสียงข้างมาก” ? | Exclusive

TNN

TNN Exclusive

อุดมคติของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" พิทักษ์ประชาธิปไตยจาก “ทรราชย์เสียงข้างมาก” ? | Exclusive

อุดมคติของ ศาลรัฐธรรมนูญ พิทักษ์ประชาธิปไตยจาก “ทรราชย์เสียงข้างมาก” ? | Exclusive

เมื่อพิจารณาบน “หลักวิชารัฐศาสตร์ (Political Science Discipline)” จะพบอีกแง่มุมว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันทางการเมืองในรูปแบบ “สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก (Countermajoritarian Institutions)” เพื่อพิทักษ์และธำรงไว้ซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตย”



นับเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ กรณี “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ยุบพรรคก้าวไกลมาจนถึงการทำให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 


เพราะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะความเหมาะสมในคำตัดสิน จนถึงความเหมาะสมของผู้ดำรงตำแหน่งทั้ง 9 ท่าน


แต่เมื่อพิจารณาบน “หลักวิชารัฐศาสตร์ (Political Science Discipline)” จะพบอีกแง่มุมว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันทางการเมืองในรูปแบบ “สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก (Countermajoritarian Institutions)” เพื่อพิทักษ์และธำรงไว้ซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตย” 


พิทักษ์ประชาธิปไตย ?


ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ได้เสนอไว้ในงานศึกษา (Puli, 2020) ความว่า ประชาธิปไตยมีปัญหาในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกที่รับเอาประชาธิปไตยมาปรับใช้ แบบเอเชียหรือแอฟริกา มักจะล้มเหลวและกลับไปหาระบอบเผด็จการบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการที่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งลุแก่อำนาจ ไม่สนเสียงของประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามา และหันกลับไปหาเผด็จการโดยที่ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้


ที่สำคัญ รัฐบาลบางทีก็อ้างการกระทำ “ในนามประชาชน” ด้วยเหตุที่มวลชนเลือกตนมา เสียงในสภาก็เป็นที่เด็ดขาด ฝ่ายค้านโหวตอย่างไรก็แพ้ นโยบาย กฏหมาย หรือร่างงบประมาณก็ผ่านได้อย่างง่ายดาย แม้จะสร้างผลเสียต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของตนก็ตาม (เสียงข้างน้อย)


ด้วยปมปัญหาข้างต้น ภูริเสนอว่า “สถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก” จะเข้ามาช่วยแก้ไข ซึ่งสถาบันดังกล่าวมีหลากหลายรูปแบบ และส่วนใหญ่นั้น “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และ “แต่งตั้งและสรรหาตามกระบวนการขององค์กรอิสระ” อาทิ สมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา ตุลาการศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ศาลฎีกา ป.ป.ช. ป.ป.ง. ป.ป.ส. หรือ DSI


แต่สถาบันที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด คือต้องกระทำผ่าน “อำนาจตุลาการ” ที่มีอำนาจชี้ถูกผิด ตัดสินคดีได้ โดยเฉพาะในทางการเมือง ต้องกระทำการผ่าน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นองค์กรอิสระ เพราะไม่ขึ้นตรงต่อมวลชน ไม่ได้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีทางที่มวลชนจะครอบงำศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งในบริบทการเมืองไทย ตามรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 ได้วางหลักการเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ดังนี้


(1) วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือไม่

(2) วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภามีหลักการอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการยับยั้งของวุฒิสภาหรือไม่

(3) วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

(4) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่นหรือระหว่างศาลอื่นด้วยกัน

(5) วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

(6) วินิจฉัยว่าข้อบังคับของวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

(7) วินิจฉัยว่าร่างพระราชกำหนดเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่

(8) ตีความรัฐธรรมนูญ


จะเห็นได้ว่า อำนาจทั้งหมดนี้ ไม่มีประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีลักษณะที่ “ใหญ่กว่า” อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ องค์กรนี้ไม่จำเป็นต้องสนใจประชาชนว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร ขอเพียงจำกัดอำนาจของสิ่งที่มาจากประชาชนก็พอ 


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดคำวินิจฉัยจึงออกมาในลักษณะที่ทัดทานต่อประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ตามหลักการแล้วก็เพื่อการธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตยในตนเอง หรือศัพท์ทางวิชาการจะเรียกว่า “ป้องกันทรราชย์ของเสียงข้างมาก (Anti Tyranny of Majority)”


เราจะอยู่อย่างไร ?


อาจมีคำถามตามมาว่า จริงอยู่ที่โดยหลักการแล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อเป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า สถาบันดังกล่าว “มีอำนาจมหาศาล” ที่จะชี้ถูกชี้ผิดใครก็ตามในระบอบประชาธิปไตยได้หมด หากเป็นเช่นนี้ จะบริหารประเทศกันอย่างไร ?


ตรงนี้ ภูริได้เสนอทางออกไว้ 3 แนวทางด้วยกัน ดังนี้


ประการแรก “ปัญหาในเชิงหลักการ” ตรงนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสร้างมาเพื่อ “ให้ผู้ที่ไม่มีวันชนะในระบอบประชาธิปไตยได้หายใจ” หรือก็คือหากไม่มีเลยจะเป็นผลเสียต่อประชาธิปไตยมากกว่าในบั้นปลาย ดังนั้น แทนที่จะสร้างศัตรูถาวร ก็จะพยายาม “Compromise” ให้ศัตรูมาเล่นในเกมประชาธิปไตยแทน


ประการต่อมา “ปัญหาในเชิงดุลยภาพ” หรือก็คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขนาดนี้จะไม่เป็นปัญหาระยะยาวต่อประชาธิปไตยหรือ? ตรงนี้ วิธีการแก้ไขคือ พยายามออกแบบให้สถาบันดังกล่าวมีอำนาจพอประมาณ อาทิ ให้ตัดสิทธิทางการเมืองหรือตัดสิทธิผู้นำได้ แต่ห้ามไปก้าวก่ายการผ่านร่างงบประมาณประจำปีในสภา 


ประการสุดท้าย “ปัญหาในเชิงปฏิบัติ”  เป็นสิ่งที่แก้ไขยากมาก ๆ แต่ให้ย้อนกลับไปที่ “การทำความเข้าใจหลักการของสถาบันนี้” แต่ละฝ่ายอาจเป็นไปได้ว่าจะประนีประนอมมากยิ่งขึ้น


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ