‘พลัง 3 ลูกไข่ 5 ลูกออก’ เปิดเหตุผลทำไมคนเอเชีย ชอบเล่นกีฬาแบดมินตัน
จากความสำเร็จของ “วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์” ผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้วงการแบดมันตันไทย คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกเหรียญแรกของประเทศในโอลิมปิก 2024 มาครอบครอง แม้เขาจะพ่ายแพ้ให้กับ “วิคเตอร์ เอ็กแซลเซน” มือวางอันดับ 2 ของโลก จากเดนมาร์ก ในรอบชิงชนะเลิศไปอย่างน่าเสียดาย แต่วิวก็ได้จุดประกายหัวใจคนไทย ให้มาสนใจกีฬาแบดมินตันมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่
หากไปดูตัวเลขแชมป์โลก หรือ สถิติการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักกีฬาเอเชียเกือบทั้งสิ้น แทบจะเรียกได้ว่า กีฬาแบดมินตัน แทบอยู่ในสายเลือดทุกอณูของคนเอเชีย ที่เบื่อ ๆ ก็ออกไปจับไม้ และลูกขนไก่ ตีเล่นกันหน้าบ้านได้เลย โดยไม่ต้องพึ่งพาสนาม
เพราะอะไร “แบดมินตัน” ถึงครองใจคนเอเชียได้มากขนาดนี้ จนเป็นแหล่งรวมยอดฝีมือของนักกีฬาแบดมินตันโลกเช่นนี้
---เล่นง่าย-ไม่แพง อยู่หน้าบ้านก็ตีได้---
หนึ่งสิ่งที่ทำให้แบดมินตันได้รับความนิยมมากขนาดนี้ในเอเชีย เป็นเพราะมีวิธีการเล่นแรกเริ่มที่ค่อนข้างง่าย ต่อให้ไม่เคยผ่านกีฬาแร็กเก็ตมา ก็เล่นแบดมินตันเป็นได้อย่างรวดเร็ว
เชื่อว่า ตอนเด็ก ๆ พวกเราทุกคน ก็เคยล้วนผ่านการ “เล่นแบดหน้าบ้าน” มาด้วยกันทั้งสิ้น กับกติกา 3 ลูกไข่ 5 ลูกออก ที่เอาไว้เล่นกับครอบครัว หรือ เพื่อนบ้านใกล้เคียง จึงไม่แปลกว่า ทำไมคนไทย และคนเอเชียส่วนใหญ่ ถึงนิยมเล่นกัน
อุปกรณ์ก็หาซื้อได้ง่าย มีหลากหลายราคา ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน ทำให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงได้ เพียงแค่มีไม้และลูกขนไก่ ก็ตีได้เลย ต่างจากกีฬาแร็กเก็ตอื่น ๆ อย่าง เทนนิส หรือ สควอช ที่ราคาอุปกรณ์ค่อนข้างสูง และต้องใช้พื้นที่ในการเล่นค่อนข้างมาก
“แบดมินตันไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ ทั้งยังเป็นมิตรกับกระเป๋าเงิน สิ่งที่คุณต้องมีคือ ไม้ และลูกขนไก่ แม้จะไม่มีเน็ต แต่คุณก็สามารถเล่นเป็นกีฬาแบบง่าย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เห็นได้ตามในมาเลเซีย” ฮาเรช เดล ผู้ร่วมก่อตั้ง Twentytwo13 เว็บไซต์ข่าวในมาเลเซีย กล่าวกับสำนักข่าว Nikkei Asia
แบดมินตันยังช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เพิ่มความสนิทสนมต่อกัน หลายประเทศในเอเชียนั้น ครอบครัว-เพื่อนฝูง มักจะรวมตัวกัน เพื่อแข่งขันเล็ก ๆ ร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในสังคม และส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี
---ความสำเร็จของนักกีฬา จุดประกายหัวใจประชาชน---
นับตั้งแต่กีฬาแบดมินตันถูกบรรจุอยู่ในกีฬาโอลิมปิก บาร์เซโลนา เมื่อปี 1992 นักกีฬาเอเชียกวาดเหรียญทองไปถึง 40 เหรียญ จากทั้งหมด 44 เหรียญทอง ของการแข่งขันแบดมินตันทุกประเภทในโอลิมปิก โดย 4 เหรียญทองที่เหลือ เป็นของนักกีฬาจากทวีปยุโรป ได้แก่ เดนมาร์ก 3 เหรียญ และสเปน 1 เหรียญ
ตัวเลขดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นักกีฬาจากเอเชีย แทบจะเป็นยอดฝีมือในวงการแบดมินตันโลก และส่วนใหญ่จะเป็นมือวางอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็น หลิน ตัน จากจีน และลี ชองเหว่ย จากมาเลเซีย ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นนักกีฬาระดับตำนานของวงการแบดมินตันโลก
ด้วยความที่แบดมินตันประสบความสำเร็จอย่างมากบนเวทีกีฬาโลก รวมทั้งนักกีฬาระดับท็อปของวงการก็มาจากเอเชีย ยิ่งช่วยจุดประกายให้ผู้คนทั่วไป หันมาจับไม้แร็กเก็ต และลูกขนไก่ ออกไปตีที่สนาม เพื่อออกกำลังกาย
ขณะเดียวกัน เอเชียเป็นประเทศที่มีการจัดแข่งขันกีฬาแบดมินตันสูง และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก เช่น Badminton Asia Championships และ BWF World Tour โดยลีกเหล่านี้ ดึงดูดให้นักเล่นระดับท็อปทั่วโลกเข้ามาร่วมแข่งขัน ทั้งยังเป็นสถานที่ในการโชว์ทักษะของพวกเขา บนเวทีระดับนานาชาติ
“แบดมินตัน เป็นกีฬาที่ชาวเอเชียเล่นได้ดีในระดับโลก นี่เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมกีฬานี้ จึงเป็นที่นิยมอย่างมาก” มิเชล ไช อดีตผู้จัดการสมาคมแบดมินตันแห่งมาเลเซีย หรือ BAM กล่าวกับสำนักข่าว Nikkei Asia
จากผลสำรวจของ BAM เมื่อปี 2018 พบว่า ชาวมาเลเซีย 1 ใน 8 คน เล่นกีฬาแบดมินตันมากกว่าฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาโปรดของประเทศ
ไช ได้ให้เหตุผล 2 ประการ ว่า เพราะอะไรทำไมกีฬาแบดมินตันถึงเป็นที่นิยมอย่างมากในมาเลเซีย ได้แก่ ประการแรกคือความสำเร็จของนักกีฬา และสอง ความสะดวกสบายในการเล่น แค่หน้าบ้านก็เล่นได้
นอกจากนี้ แบดมินตันยังมีรากฐานทางวัฒนธรรมมาจากประเทศเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งเชื่อว่า กีฬาชนิดนี้มีมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว ก่อนที่ต่อมา แบดมินตันสมัยใหม่จะถูกคิดค้นขึ้น เมื่อปี 1873 ในอังกฤษ หลังดยุคแห่งโบฟอร์ต นำเกมนี้กลับมาจากอินเดีย
---จีน เจ้าแห่งกีฬาแบดมินตัน---
จากบทความของ Nikkei Asia ที่เผยแพร่เมื่อปี 2020 ระบุว่า จีนมีผู้เล่นกีฬาแบดมินตันราว 100 ล้านคน และได้รับเหรียญโอลิมปิกทั้งหมด 52 เหรียญ (รวมปี 2024 แล้ว) จากการแข่งขันแบดมินตัน 5 ประเภท ได้แก่ ชายเดี่ยว, หญิงเดี่ยว, ชายคู่, หญิงคู่ และคู่ผสม รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ มีเหรียญโอลิมปิกทั้งหมดอยู่ที่ประเทศละ 22 เหรียญ
พอล-เอริค ฮอยเออร์ ลาร์เซ่น ประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก ประมาณการณ์ไว้ว่า ผู้เล่นจีนมีชั่วโมงในการเล่นและซ้อม 10,000 ชั่วโมง ตั้งแต่อายุ 19 หรือ 20 ปี ซึ่งนำหน้าผู้เล่นยุโรปไป 4 ปี
ขณะที่ ยุโรปต้องดิ้นรนอย่างมากในการที่เข้าแข่งขันกีฬาชนิดนี้ เนื่องจากการสนับสนุนอาจไม่เท่าองค์กร หรือรัฐบาลของเอเชีย แม้ในเดนมาร์ก กีฬาแบดมินตันประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้เล่นกีฬานี้ ก็ลดลงไปครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 100,000 คนเท่านั้น
---แรงสนับสนุน-เงินรางวัล ดึงดูดผู้มีพรสวรรค์เข้าวงการ---
สิ่งสำคัญที่ทำให้เอเชีย มีนักกีฬาแบดมินตันที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เรื่องของเงินรางวัล และการสนับสนุนจากภาครัฐ ยิ่งมีเงินสนับสนุนมากในกีฬานี้เท่าไหร่ ยิ่งแปรเปลี่ยนให้เดินไปสู่เส้นทางอาชีพได้ง่ายขึ้น สร้างโอกาส, มีโค้ช และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เพื่อรองรับไปสู่การเป็นแชมป์โลกได้ง่ายขึ้น
รัฐบาลเอเชียหลายแห่ง ลงทุนกับการพัฒนากีฬาแบดมินตัน ตระหนักถึงศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพ ความสามัคคีทางสังคม และความภาคภูมิใจของชาติ การสนับสนุนนี้มาจากการระดมทุม เพื่อสิ่งอำนวยความสะดวก โปรแกรมการฝึกอบรม และการพัฒนานักกีฬาชั้นยอด
มอร์เทน ฟรอสต์ อดีตนักแบดมินตันมือวางอันดับ 3 ของโลก ชี้ให้เห็นว่า เงินรางวัลจะเป็นสิ่งที่ช่วยจูงใจให้คนหนุ่มสาวหันมาเลือกเส้นทางนี้ และมองเห็นว่า แบดมินตัน ก็สามารถสร้างอนาคตให้กับพวกเขาได้ ขณะที่ เอเชียอาจได้รับการสนับสนุนที่ดีกว่า ทำให้ง่ายต่อการเดินหน้าสู่ลีกอาชีพ
---จาก “เมย์ รัชนก” สู่ “วิว กุลวุฒิ” และคนรุ่นใหม่---
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา วงการแบดมินตันไทย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะบนเวทีการแข่งขันระดับโลก ตั้งแต่ “เมย์ รัชนก” ที่ก้าวขึ้นสู่แบดมินตันหญิงเดี่ยวมือ 1 ของโลก ก็ได้จุดประกายหัวใจของคนรุ่นใหม่ ที่มีเธอเป็นไอดอล และใฝ่ฝันอย่างจะก้าวเป็นแบบเธอบ้าง
หนึ่งในนั้น ก็คือ “วิว กุลวุฒิ” ที่ตอนนี้ กลายเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการแบดมินตันไทย ด้วยการคว้าเหรียญโอลิมปิกแรกให้แก่ประเทศ แม้จะเป็นเหรียญเงิน แต่เหรียญนี้ ก็ยิ่งใหญ่มากพอที่จะจุดประกายฝันให้คนรุ่นหลังวิว อยากจะก้าวขึ้นมาเป็นแบบเขาสักวัน
แน่นอนว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากตัวนักกีฬาแค่เพียงอย่างเดียว แต่มาจากหลายภาคส่วนที่ทำให้วงการประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ, ภาคเอกชน, สมาคม, โค้ช รวมถึงนักกีฬารุ่นพี่คนก่อน ๆ ที่เคยเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของนักกีฬาหลายคน และสร้างบทเรียนให้กับวงการ จนพวกเขาสามารถเดินทางมาสู่เวทีระดับโลก และเหรียญโอลิมปิกในวันนี้ หลังจากต้องรอคอยนานถึง 32 ปี
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://olympics.com/en/news/badminton-evolution-historical-glimpse-sport-over-decades
https://www.linkedin.com/pulse/smashing-success-why-badminton-reigns-supreme-asia-rackonnect-jg7xe/
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Olympic_medalists_in_badminton
ข่าวแนะนำ