TNN ถอดรหัส "ปักกิ่ง 2008" มรดกทางเศรษฐกิจเจ้าภาพโอลิมปิก อานิสงส์ระยะสั้น พังทลายระยะยาว | Exclusive

TNN

TNN Exclusive

ถอดรหัส "ปักกิ่ง 2008" มรดกทางเศรษฐกิจเจ้าภาพโอลิมปิก อานิสงส์ระยะสั้น พังทลายระยะยาว | Exclusive

ถอดรหัส ปักกิ่ง 2008 มรดกทางเศรษฐกิจเจ้าภาพโอลิมปิก อานิสงส์ระยะสั้น พังทลายระยะยาว | Exclusive

โอลิมปิก “ปักกิ่ง 2008” เจ้าภาพทุ่มเงินลงทุนจำนวน 52.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสถิติมากที่สุดตั้งแต่ที่มีการจัดโอลิมปิกมา รวมถึงมีการสร้าง “สนามกีฬารังนก” ความจุกว่า 80,000 ที่นั่ง ด้วยจำนวนเงิน 428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดตั้งแต่มีการก่อสร้างสนามกีฬามา ณ ตอนนั้นเช่นกัน แต่ที่กล่าวมานั่นเป็นเพียงภาพที่ชาวโลกได้เห็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงที่มีการจัดมหกรรมประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นแสงไม่ได้สาดส่องให้รับชมต่อว่า มหกรรมโอลิมปิกได้ทิ้ง “มรดก (Legacy)” ให้แก่ประเทศเจ้าภาพอย่างไร และมรดกที่ว่านี้ เป็นผลดีหรือผลเสียมากน้อยเพียงใด ?

โอลิมปิก คือมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ในทุก ๆ 4 ปี มีผู้คนกว่าหลายล้านเฝ้ารอคอยให้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง เพราะประสบการณ์เมื่อได้สัมผัสกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในสนามหรือรับชมทางโทรทัศน์ ย่อมเป็นที่สังเกตได้ถึง “ความอลังการ” ตั้งแต่พิธีเปิดการแข่งขัน การแสดง แสง สี เสียง ขบวนพาเหรด ขบวนคบเพลิง กราฟิคจอภาพ มุมกล้องถ่ายทอดสด เรื่อยไปที่แม้แต่การโฆษณาสินค้ายังทำให้ผู้ชมเร้าใจได้อย่างถึงรสชาติ


โดยเฉพาะโอลิมปิก “ปักกิ่ง 2008” ที่เจ้าภาพทุ่มเงินลงทุนจำนวน 52.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสถิติมากที่สุดตั้งแต่ที่มีการจัดโอลิมปิกมา รวมถึงมีการสร้าง “สนามกีฬารังนก” ความจุกว่า 80,000 ที่นั่ง ด้วยจำนวนเงิน 428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดตั้งแต่มีการก่อสร้างสนามกีฬามา ณ ตอนนั้นเช่นกัน 


แต่ที่กล่าวมานั่นเป็นเพียงภาพที่ชาวโลกได้เห็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงที่มีการจัดมหกรรมประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นแสงไม่ได้สาดส่องให้รับชมต่อว่า มหกรรมโอลิมปิกได้ทิ้ง “มรดก (Legacy)” ให้แก่ประเทศเจ้าภาพอย่างไร และมรดกที่ว่านี้ เป็นผลดีหรือผลเสียมากน้อยเพียงใด ?


เราจะศึกษามรดกโอลิมปิกได้อย่างไร ?


ก่อนอื่นนั้น ต้องมาทำความเข้าใจวิธีการศึกษาวิจัย Olympics Legacy (มรดกโอลิมปิก) เสียก่อน งานศึกษา (Zimbalist, 2016) ได้ชี้ให้เห็นว่า Olympics Legacy นั้น เป็นสิ่งที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC วางหลักการขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้การเป็นเจ้าภาพจะมีการลงทุนมหาศาลและอาจจะไม่คืนทุนง่าย ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ถึงกระนั้นยังมีเรื่องมรดกที่เจ้าภาพจะได้รับอย่างแน่นอน เป็นการให้เหตุผลสนับสนุนเพื่อให้เกิดความอยากประมูลการเป็นเจ้าภาพ โดยวางหลักไว้ 16 ประการ ดังนี้


  1. โครงสร้างพื้นฐานทางกีฬา
  2. โครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคม สื่อสาร และพลังงาน
  3. โครงสร้างพื้นฐานที่อยู่อาศัย
  4. ช่วยกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยว
  5. ช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
  6. ช่วยเพิ่มการร่วมมือทวิภาคี พหุภาคี และการบูรณาการขององค์กรและธุรกิจในประเทศ
  7. ช่วยเพิ่มพลังสปิริตแห่งประชาชาติ
  8. ประโยชน์ด้านการศึกษา
  9. ประโยชน์ทางสุขภาพและสุขภาวะ - ประชาชนหันมาออกกำลังกายและร้านค้าสะอาดขึ้น
  10. ให้ความสำคัญกับผู้พิการหรือทุพพลภาพมากยิ่งขึ้น
  11. พัฒนานโยบายและมาตรการความยั่งยืน
  12. มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น
  13. ลดปัญหาอาชญากรรม
  14. ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่อาจพุ่งสูงขึ้น
  15. เพิ่มความเท่าเทียม ลดการเหยียด - เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว
  16. สร้างวงไพบูลย์ทางสังคมทุกหมู่เหล่า


แม้มรดก 16 ประการที่ได้จากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิดจะเป็นเรื่องดี แต่ในอีกมุมหลักการทั้งหมดที่ IOC สร้างขึ้นเป็นตัวชี้วัดก็เปรียบเสมือนกรงขังสำหรับเจ้าภาพกลาย ๆ ว่าหากในระยะยาวประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพไม่สามารถบรรลุ 16 ประการข้างต้นได้ ก็เท่ากับว่าเป็นความล้มเหลวอย่างมาก และทำให้การทำความเข้าใจมรดกไม่ใช่เรื่อง “ของใครของมัน (Relative)” ที่ให้เหตุผลว่าคุ้มไม่คุ้มอยู่ที่ประเทศใครประเทศมันอีกต่อไป


อีกทั้ง ในความเป็นจริง เจ้าภาพโอลิมปิกบรรลุได้เพียงบางอย่างจาก 16 ประการเท่านั้น อาทิ โอลิมปิก บาร์เซโลนา 1992 สามารถที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทั้งประเทศกลับเป็นหนี้มากถึง 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะการท่องเที่ยวเกิดขึ้นเพียงบาร์เซโลนา ไม่ได้ไปเกิดขึ้นที่มาดริด เซบีญา กรานาดา หรือหมู่เกาะแคนารี ทำให้การลงทุนกระจุกตัว แต่ทำให้หนี้ต่อประชาชกรสูงขึ้นทั้งประเทศ


เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาวิจัย งานศึกษา (Preuss and Hong, 2021) จึงเสนอว่า ต้องศึกษาแบบเป็นกรณี ๆ ไป (Case-by-case) ไปว่า เจ้าภาพในครั้งนั้น ๆ ได้บรรลุสิ่งที่ตนต้องการจากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่มากจะขาดหลักฐานจดหมายเหตุชั้นความลับ (Confidential Archives) ที่จะบอกได้ว่า รัฐบาลหรือฝ่ายจัดการแข่งขันต้องการสิ่งนั้น และอยากที่จะบรรลุจุดหมายนั้นจริง ๆ ยกตัวอย่าง สมมุติว่าประเทศเจ้าภาพ A มีการลงทุนมากขึ้นหลังจากจบโอลิมปิก เราจะทราบได้อย่างไรว่า การลงทุนที่ว่านั้น นายทุนประทับใจในโอลิมปิกจริง ๆ หรืออยากจะลงทุนอยู่ก่อนหน้า แต่เพิ่งจะมีเงินมาลงทุนช่วงนั้นเฉย ๆ 


เรื่องนี้ งานศึกษา (Zimbalist, 2016) ได้เสนอทางออกว่า จริงอยู่ที่แรงผลักดันนั้นหาหลักฐานมาให้เหตุผลสนับสนุนได้ยาก เพราะรัฐบาลไม่ได้เปิดให้เข้าถึงได้ ดังนั้น ต้องยอมรับข้อจำกัด และใช้วิธีการศึกษาแบบ “Ex Post” หรือ ปล่อยให้เวลาผ่านไปนาน ๆ ก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาว่า การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น สามารถบรรลุอย่างน้อยหนึ่งเงื่อนไข ใน 16 ประการของ IOC หรือไม่ 


ตัวอย่างเช่น สมมุติประเทศเจ้าภาพ B สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกีฬาหลากหลายชนิด หากผ่านไป 10-20 ปี โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นไม่ได้รับการใช้งานอย่างที่ควรจะเป็น ก็เท่ากับว่าล้มเหลวในเรื่องของมรดก หรือสมมุติประเทศเจ้าภาพ C ต้องการที่จะประหยัดงบประมาณในการจัดการแข่งขัน หากผ่านไป 10-20 ปี งบประมาณเรื่องโอลิมปิกยังกระทบกับหนี้สาธารณะต่อประชากร หรือการจัดเก็บภาษีที่ยังเพิ่มขึ้นเพื่อใช้หนี้จัดงานนี้ ก็เท่ากับว่าล้มเหลวในเรื่องมรดกเช่นกัน


โอลิมปิก ปักกิ่ง 2008: มหกรรมที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมภาระที่ใหญ่ยิ่ง


หนึ่งในประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกที่ถือว่าทุ่มงบประมาณมากที่สุด นั่นคือ โอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 ที่จำนวน 52.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่หมดไปกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองปักกิ่ง ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสร้าง “สนามกีฬารังนก” ความจุกว่า 80,000 ที่นั่ง ด้วยจำนวนเงิน 428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จีนจะเป็นมหาอำนาจทางกีฬาของเอเชียที่มีสนามแข่งขันอยู่มากมายภายในประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานลำดับต้น ๆ ของโลก แต่พวกเขาก็ยังต้องลงทุนปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อโอลิมปิกหนนี้


แม้ไม่มีหลักฐานชั้นความลับแต่ก็พอจะประเมินได้ว่า การที่จีนทำแบบนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพยายามในการพัฒนา เพราะถือว่าไม่สมเหตุสมผล มีอยู่แล้วจะทำใหม่ให้เปลืองงบเพื่ออะไร แต่เป็นไปเพื่อ “เกียรติยศ (Prestige)” บางอย่างที่พวกเขาควรจะได้รับ 


ซึ่งในระยะสั้น พวกเขาก็ได้รับจริง งานศึกษา (Zhou and Ap, 2008) พบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 1,165 คน ที่เข้าชมการแข่งขันโอลิมปิก 2008 มีความประทับใจอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะเรื่องผู้ชมตราตรึงใจสนามกีฬารังนก พิธีเปิดสุดอลังการที่นำผู้จุดคบเพลิงห้อยสลิงไปจุดไฟพุ่งรอบสนาม หากทำไม่ดีก็มีไฟไหม้ได้ หรือเรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ถึงขนาดที่ยอมเสียเงินมาชมแม้โรงแรมและสินค้าจะราคาแพงขึ้นก็ตาม


อย่างนั้น ในระยะยาว เป็นอย่างไร ? อย่างแรกที่สุด เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ได้มีข่าวออกมาว่า สนามกีฬารังนกนั้นได้รับการปล่อยให้ทิ้งร้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมาก เพราะสนามแห่งนี้ได้ใช้จัดงานอื่น ๆ นอกเหนือจากโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลชิงแชมป์เยาวชน คอนเสิร์ต หรืองานเปิดตัวต่าง ๆ แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่การเป็นเจ้าภาพต้องรับผิดชอบตามมา นั่นคือ การบำรุงรักษา


ค่าบำรุงสนามกีฬารังนกนั้น อยู่ที่ 10-11 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในเรตที่สูงอย่างมาก และเมื่อค่าบำรุงสูง การเก็บค่าเช่าสนามก็จะต้องสูงมากขึ้นตามไปด้วย และหากคิดตามหลักความเป็นจริง จะพบว่า มีกีฬาหรือคอนเสิร์ตจำนวนน้อยจริง ๆ ที่จะสามารถทำยอดผู้ชมแบบการันตีได้มากถึง 80,000 ที่นั่ง หนึ่งในนั้นคือพรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่พวกเขาก็มีสนามแข่งขันเป็นของตนเองภายในประเทศที่มากกว่า 80,000 ที่นั่ง ส่วนคอนเสิร์ตก็ไม่จำต้องจัดในสนามกล้างแจ้ง แบบฮอลล์ก็มี แม้ที่นั่งจะน้อยกว่าแต่สบายเรื่องสภาพอากาศกว่ามาก


และอีกอย่าง แม้จะจัดการแข่งขันมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ฝ่ายจัดการแข่งขันก็เป็นทางการจีนที่จะต้องออกค่าใช้จ่าย หมายความว่า เป็นรายรับที่หมุนเวียนกันภายใน ไม่ได้เติมเข้ามาจากภายนอก ตรงนี้ เมื่อกลับไปพิจารณาตามวิธีการศึกษาวิจัย เท่ากับว่า ในระยะยาวแล้ว จีนไม่สามารถที่จะบรรลุเรื่องโครงสร้างทางกีฬาได้ แต่ในระยะสั้นกลับบรรลุพลังสปิริตแห่งประชาติ (เพราะผู้มาเยือนประทับใจ)


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ