"สงครามนกอีมู" การพ่ายแพ้หมดรูปของมนุษย์ จากสัตว์รุกรานจำนวนมาก | Chronicles
มีครั้งหนึ่งที่พลังของมนุษย์ไม่สามารถต่อกรสัตว์รุกรานได้ ทั้งที่ได้เปรียบเรื่องอาวุธและเทคโนโลยี นั่นคือเหตุการณ์ “สงครามนกอีมู (Emu War)” ในออสเตรเลียเมื่อปี 1932
มนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหารและห่วงโซ่อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ร้ายขนาดไหน ก็หาวิธีปราบปรามและรับมือได้ หรือขนาดที่ทำให้สัตว์สูญพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่มีครั้งหนึ่งที่พลังของมนุษย์ไม่สามารถต่อกรได้ ทั้งที่ได้เปรียบเรื่องอาวุธและเทคโนโลยี นั่นคือเหตุการณ์ “สงครามนกอีมู (Emu War)” ในออสเตรเลียเมื่อปี 1932
เรื่องนี้เกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประมาณคริสต์ทศวรรษ 1930 รัฐบาลออสเตรเลียพยายามช่วยเหลือทหารผ่านศึกที่ไปรบมา และต้องปลดประจำการโดยไม่มีอาชีพอื่น ๆ รองรับ หรือไม่มีที่ดินทำกิน
จึงออกนโยบายแจกจ่ายที่ดินในภูมิภาคทางตะวันตกของประเทศเพื่อให้ทหารผ่านศึกได้มีที่ดินไปทำไร่ทำสวน จะได้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรไปเลี้ยงการบริโภคของประเทศ และจะได้เก็บภาษีได้มากขึ้น
แต่ทางการลืมตระหนักไปว่า พื้นที่ทางตะวันตกนั้น เป็นที่อยู่อาศัยของ “นกอีมู” ซึ่งเป็น “สัตว์คุ้มครอง” ของออสเตรเลีย ห้ามไม่ให้มีการล่า ปลิดชีวิต หรือทำร้ายโดยเด็ดขาด ทำให้จำนวนของนกอีมูมีแต่จะเพิ่มขึ้น ๆ
แม้จะไม่ปรากฏจำนวนที่แน่ชัด แต่ตามบันทึกของทางการออสเตรเลียระบุว่า ในการรุกรานแต่ละครั้ง จะมีนกอีมูมากถึง 20,000 ตัวเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงนั้นออสเตรเลียประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้นกอีมูไม่สามารถหาอาหารได้ตามธรรมชาติ ทำให้แหล่งอาหารใหม่ของมัน ก็คือไร่สวนของทหารผ่านศึก
นกอีมูเริ่มเข้ามารุกรานไร่สวนมากขึ้นทุกวัน แต่เจ้าของก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง จนกระทั่งบริบททางเศรษฐกิจการเมืองโลกเปลี่ยนไป คือเกิด “เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression)” ขึ้น ออสเตรเลียมีอัตราการว่างงาน 32% และขาดดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา สินค้าเกษตรขายไม่ออก ทำให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนให้เกษตรกรและประชาชน “ล่าและกำจัด” นกอีมูได้อย่างเปิดเผย ไม่มีการเอาผิด
เรื่องนี้ถือว่ารัฐบาลได้ประโยชน์ 2 ต่อ คืออย่างแรก ได้เพิ่มผลผลิตมากยิ่งขึ้น แม้จะขายไม่ได้ก็ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศลง ส่วนอีกเรื่องคือกระตุ้นการจ้างงาน เพราะเกษตรกรไม่สามารถปราบนกอีมูได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องจ้าง “กองทัพ” ที่เชี่ยวชาญด้านนี้เข้ามาช่วย
เท่ากับว่า รัฐบาลประกาศสงครามกับนกอีมูอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้ง่ายเพียงพูด เพราะนกอีมูนั้นวิ่งเร็วมาก ๆ เกินกว่าที่ทหารจะมีเวลาตั้งศูนย์เล็งยิงได้ หรือต่อให้ใช้ปืนกลกราดยิง ก็เข้าเป้าน้อย
รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เลย สถานการณ์มีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะจำนวนจากการสังหารไม่ได้ลดลง มิหนำซ้ำ นกอีมูยังแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วอย่างมาก จนในที่สุด ในเมื่อใช้ยุทธการเชิงรุกไม่สำเร็จ ก็หันมาใช้ยุทธการเชิงรับ คือการล้อมรั้วไฟฟ้าในพื้นที่ดินทำกิน แม้จะใช้งบประมาณในการติดตั้งสูงกว่าจ้างทหารมาปราบปรามมาก แต่ก็ถือได้ว่าป้องกันนกอีมูรุกรานได้จำนวนหนึ่ง เพราะก็ยังมีหลุดรอดมาทำลายไร่สวนได้อยู่ดี
Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]
แหล่งอ้างอิง
ข่าวแนะนำ