TNN “เกาหลีใต้” ผลาญงบแสนล้านแจกเงินกว่า 36,000 บาท แต่ทำไมกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ? | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

TNN

TNN Exclusive

“เกาหลีใต้” ผลาญงบแสนล้านแจกเงินกว่า 36,000 บาท แต่ทำไมกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ? | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

“เกาหลีใต้” ผลาญงบแสนล้านแจกเงินกว่า 36,000 บาท แต่ทำไมกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ? | Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

เกาหลีใต้ช่วงโควิด ปี 2020 ประกาศนโยบาย “บัตรกำนัลบริโภค หรือ Consumption Voucher” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครัวเรือนในชนบท ผลลัพธ์คือกระตุ้นเศรษฐกิจ “ไม่ได้จริง” ดังที่หวังไว้ เป็นเพราะเหตุใด ?

ตอนนี้ ชาวไทยกำลังตื่นเต้นกับนโยบาย “Digital Wallet” เติมเงิน 10,000 บาทให้ประชาชนไปจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยเปิดรับลงทะเบียน 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป


แม้ว่าเป้าหมายหลักของรัฐบาลคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีคำถามตามมาว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ?


กรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกัน พบในประเทศ “เกาหลีใต้” ตอนเกิดเหตุการณ์โควิดระบาด โดยรัฐบาลประกาศนโยบาย “บัตรกำนัลบริโภค หรือ Consumption Voucher” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครัวเรือนในชนบท


ผลลัพธ์คือกระตุ้นเศรษฐกิจ “ไม่ได้จริง” ดังที่หวังไว้ แต่ปัจจัยเพราะอะไรนั้น เรามาสำรวจกัน


นโยบายการคลังท้าทายโควิด


เกาหลีใต้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ปี 2020 ด้วยการแจกบัตรกำนัลบริโภค หรือ Consumption Voucher ให้แต่ละครัวเรือนในเขตชนบทของประเทศกว่า 22 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 99.5% ของครัวเรือนในแถบชนบททั้งประเทศ


นโยบายนี้ เกิดขึ้นจากความพยายามในการช่วยเหลือเศรษฐกิจจุลภาค ตามชนบทที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งในเรื่องของการขายสินค้าและบริการ และการจัดเก็บภาษีเข้าส่วนกลางที่ทำได้ลดลง เพราะการปกครองท้องถิ่นได้นำงบประมาณไปใช้ในเรื่องการป้องกันโรคเกือบหมด


อีกเหตุผลเบื้องหลังนโยบายนี้ คือ แถบชนบทมีปัญหาเรื้อรังมานานจากการจ้างงานที่ต่ำกว่าในเมืองและเมืองหลวง ไม่เพียงเท่านั้น วัยแรงงาน (ตั้งแต่ 24 ปีขึ้นไป) ก็เลือกที่จะอาศัยอยู่กับพ่อแม่มากกว่าย้ายออกมาอยู่เอง ทำให้การจับจ่ายภาคครัวเรือนไม่เติบโต เพราะประชากรวัยแรงงานมีบ้าน มีรถ มีทุกอย่างที่ใช่ร่วมกับพ่อแม่ จึงไม่ยอมเป็นหนี้เพื่อผ่อนสิ่งดังกล่าว


ดังนั้น รัฐบาลจึงถือโอกาส “ล้างไพ่” เศรษฐกิจครัวเรือนโดยการออก บัตรกำนัลบริโภคขึ้นมา โดยอัตราการจ่ายนั้น แต่ละครัวเรือนจะได้รับบัตรกำนัลบริโภค  มูลค่า 664 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงิน 24,000 บาท ซึ่งสามารถจ่ายได้ทั่วประเทศ และจะยังได้รับบัตรกำนัลต่อหัวอีกประมาณ 83-332 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3,000-12,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในท้องถิ่นโดยเฉพาะ


บัตรกำนัลบริโภคนี้  ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือนำไปขายสิทธิให้แก่ผู้อื่นได้ในทุกกรณี อีกทั้งมีเงื่อนไขว่า บัตรกำนัลบริโภคในส่วนแบบใช้จ่ายได้ทั่วประเทศ จะไม่สามารถใช้จ่ายในธุรกิจประเภทบาร์ คลับ ชอปปิ้งออนไลน์ หรือห้างค้าปลีกที่เป็นสาขาของธุรกิจใหญ่ได้


และในส่วนบัตรกำนัลบริโภคแบบใช้จ่ายท้องถิ่น รัฐบาลกำหนดขอบเขตให้ใช้จ่ายได้เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค “ภายในเขตพื้นที่” ของผู้ใช้เท่านั้น แม้ที่อยู่อาศัยของตนจะติดกับร้านค้าอีกพื้นที่หนึ่งมากกว่าเขตของตน ก็ไม่มีข้อยกเว้น


กระตุ้นไม่ได้จริง


ในการติดตามและประเมินผล พบว่า นโยบายดังกล่าวได้ผลอย่างมาก ในงานศึกษา Can Stimulus Checks Boost an Economy under COVID-19? Evidence from South Korea เขียนโดย มุนจ็อง คิม และซูฮย็อง อี ตีพิมพ์ใน International Economic Journal โดยงานศึกษาชี้ให้เห็นว่า 36% ของภาคครัวเรือนชนบทมีการบริโภคสินค้าในพื้นเพิ่มมากขึ้น และกว่า 78% ของครัวเรือนชนบทซื้อสินค้าละบริการมากกว่าก่อนเกิด Covid-19 


หากพิจารณาเพียงเท่านี้ จะพบว่า ผลตอบรับดีเกินคาด สามารถกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการในชนบทได้จริง แต่อย่าลืมว่า บัตรกำนัลบริโภคไม่ได้เป็นการซื้อด้วยเงินสดในมือของประชาชนจริง ๆ 


หมายความว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ผลาญงบประมานการคลังไปกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 0.7% ของจีดีพีประเทศในปี 2019 เพื่อทำให้เศรษฐกิจ “อยู่ได้” แต่ไม่ได้ทำให้ “เงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น” 


หรือก็คือ ทุกอย่างเป็นเงินที่รัฐบาลออกให้ไปก่อน เพื่อหวังน้ำบ่อหน้า แล้วภายหลังหมดนโยบาย Consumption Voucher แล้ว นายทุนในแถบชนบทก็จะพอมีทุนในการจ้างงาน เพราะช่วง Covid-19 รัฐเข้ามาช่วย พอมีการจ้างงาน วัยแรงงานในชนบทก็มีงานทำ กำลังซื้อก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่จริง ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น


สังเกตได้จาก “การเก็บภาษีจากชนบท” ที่ทำได้ในอัตราไม่แตกต่างจากช่วงก่อนให้บัตรกำนัลบริโภค นั่นเพราะ การจ้างงานที่เกิดขึ้นในชนบทส่วนใหญ่เป็น Part-time ซึ่งจะได้รับการงดเว้นภาษีจากรัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้น บัตรกำนัลบริโภค จะออกมาหรือไม่ พวกเขาก็ยังคงจ้างงานแบบนี้ต่อไป


ดังนั้น การแจก Consumption Voucher นี้ ไม่ได้ช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการเพิ่มเงินในระบบ การจ้างงาน หรือการเก็บภาษีชนบทใด ๆ เลย ซึ่งต้องมาดูว่า ดิจิทัลวอลเล็ตของไทย จะเผชิญปัจจัยที่คาดไม่ถึงแบบเกาหลีใต้หรือไม่


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [เฮย์เดน วิศว์]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ