หรือไทยจะไร้ ‘โลว์ซีซัน’ หลังโควิด-โลกร้อน ทำวิถีท่องเที่ยวเปลี่ยนไป
ช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญความยากลำบากจากโควิด-19 ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น พวกเราทุกคนยังจำมันได้ดี โลกที่ไร้การเคลื่อนไหว สถานที่ต่างที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงา มีเพียงแค่เสียงสายลม และความโศกเศร้าจากการสูญเสียเท่านั้นที่ดังออกมา
ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี จากวันที่โลกต้องเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจ มาในวันนี้ กลับเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นทีละนิด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่การแพร่ระบาดได้เปลี่ยนวิถีการท่องเที่ยวเดิม ๆ ให้เปลี่ยนไป เมื่อผู้คนทั่วโลกแห่เดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งช่วงโลว์ซีซัน
---‘โควิด’ ทำวิถีท่องเที่ยวเปลี่ยน---
บทความจากสำนักข่าว CNN วิเคราะห์ไว้ว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไป บริษัทและโรงเรียนหลายแห่งเปลี่ยนการทำงานและการเรียนการสอนมาเป็นระบบออนไลน์ ทำให้ทุกคนมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในบ้าน แทนวิถีการทำงานแบบเดิม ที่เราจะต้องตื่นแต่เช้า เดินทาง ตอกบัตรเข้างาน ตามเวลาออฟฟิศ และมีเวลาที่ยืดหยุ่นขึ้น
แม้จะผ่านช่วงโควิดระบาดหนักมาแล้ว แต่หลายบริษัทยังคงรักษานโยบายการทำงานแบบ Work from home ไว้ ทำให้พนักงานมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลกได้มากขึ้น ในขณะที่ยังได้รับเงินเดือนตามปกติอยู่ และนั่นส่งผลให้วิถีการเที่ยวแบบเดิมค่อย ๆ หายไป
สอดคล้องกับเทรนด์ Workation ทั่วโลก คือการทำงานไปด้วย เที่ยวไปด้วยที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ผลสำรวจจาก Booking.com ระบุว่า นักท่องเที่ยวเกือบ 40% เคยคิดทำงานจากสถานที่อื่น ขณะที่ แรงงานไทยราว 60% หันมาทำงานไปด้วย เที่ยวไปด้วยมาตั้งแต่ปี 2021 แล้ว
ด้วยเหตุนี้ ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลกมักมีนักท่องเที่ยวตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วงโลว์ซีซัน นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างโลว์ซีซัน และไฮซีซัน หรือ โชลเดอร์ซีซัน (Shoulder Season) ก็กำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว
แมตต์ เบอร์นา ประธานแห่ง Americas of Intrepid Travel เผยว่า เริ่มมีการจองทริปท่องเที่ยวในช่วงฤดูนี้มากขึ้นด้วย ในปี 2023 มียอดจองทริปท่องเที่ยวช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิเพิ่มขึ้นราว 56% และ 70% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยอดจองช่วงเวลาเดียวกันในตอนก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทต้องขยายเวลาออกไป เพื่อรองรับความต้องการของผู้คน
---โลกร้อนก็มีส่วน---
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สภาพอากาศ” เป็นปัจจัยใหญ่สุดที่ส่งผลให้ผู้คนต่างแห่เดินทางในช่วงไฮซีซัน โดยช่วงโลว์ซีซัน จะถูกมองว่า เป็นช่วงที่สภาพอากาศไม่ค่อยดีนัก แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ กำลังทำให้เกิดสภาพอากาศที่แย่สุดขึ้นมาใหม่
ผลสำรวจจาก European Travel Commission หรือ ETC เผยว่า ปี 2023 นักท่องเที่ยวชาวยุโรป มองว่า สภาพอากาศ เป็นปัจจัยอันดับ 1 ของพวกเขา ที่ทำให้ตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวที่ไหน โดยใน 8% ของผู้ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่า พวกเขากังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นในยุโรป
คลื่นความร้อนที่ถล่มทางตอนใต้ของยุโรป อย่าง อิตาลี สเปน และกรีซ จนทำให้เกิดวิกฤตเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเสียชีวิต ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดในกรีซจนถึงตอนนี้
ปี 2022 รายงานว่า มีประชาชนมากกว่า 62,000 คน ในยุโรป ที่เสียชีวิตโดยมีปัจจัยเรื่องอากาศร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ข้อมูลจาก ForwardKeys บริษัทวิเคราะห์ด้านการเดินทาง เผยให้เห็นว่า มีการค้นหาเที่ยวบินในช่วงฤดูร้อนไปยังประเทศโซนยุโรปตอนเหนือ อย่าง เดนมาร์ก และสวีเดน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อหนีความร้อนที่เข้ามาปกคลุมในประเทศ
ไมกี้ ซาดอฟสกี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของผู้จัดทัวร์ Intrepid Travel กล่าวว่า บริษัทจำเป็นต้องยกเลิกหรือกำหนดตารางการเดินทางยอดนิยมบางรายการใหม่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซาดอฟสกี ยกกรณีที่เกิดขึ้นในเนปาล ปัจจุบันต้องเผชิญฤดูมรสุมเพิ่มขึ้น หิมะและธารน้ำแข็งละลายเร็วมากขึ้น น้ำก็ไหลหลากแรงขึ้น และเส้นทางปกติที่คณะทัวร์จะเดินทางกันก่อนหน้านี้ ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป ดังนั้น ทางบริษัทจึงต้องลดระยะเวลาการเดินทางลง เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงมรสุมที่หนักหน่วง
ซาดอฟสกี กล่าวด้วยว่า CEO ของเขาเคยยกเลิกทริปล่องเรือในอิตาลีกับแม่ เพราะกังวลเรื่องสภาพอากาศร้อนจัด
ปัจจัยทางด้านสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Kampgrounds of America ในเดือนสิงหาคม ปี 2023 ระบุว่า นักแคมป์ปิ้งราว 67% เปลี่ยนแผนการท่องเที่ยวปีนี้ เพราะปัจจัยเรื่องสภาพอากาศ
ขณะที่ แพลตฟอร์มเช่ารถบ้าน อย่าง RVShare เผยว่า ยอดจองรถบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 2 เท่า ในช่วงโชลเดอร์ซีซัน อันเป็นผลมาจากนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่นและความพยายามในการหลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด
---ตารางเวลาเรียนจำกัดเวลาเที่ยว---
สภาพอากาศ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนหลังช่วงโควิด ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนเลือกเดินทางในช่วงเวลาต่าง ๆ
โอลิเวียร์ พอนติ ผู้อำนวยการของ ForwardKeys สังเกตว่า นักท่องเที่ยวหลายคนต้องวางแผนการเดินทาง ให้ตรงกับเวลาวันหยุดตามปฏิทินของโรงเรียน
ขณะเดียวกัน บางครอบครัวเลือกที่จะให้ลูกเรียนแบบโฮมสคูล และให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากการเดินทางไปที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เปรียบเสมือนการเรียนการสอนในพื้นที่จริง และพ่อแม่กลุ่มนี้ สามารถเลือกเดินทางในช่วงโลว์ซีซีนได้ เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายจากผู้คน พร้อมกับสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของแต่ละครอบครัวจะมีความแตกต่างกันออกไป บางคนลูกของพวกเขาโตแล้ว หรือ บางคนไม่มีลูก คนเหล่านี้ก็จะมีเวลายืดหยุ่นในการท่องเที่ยวมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ
---ไทยสถานที่ยอดฮิตขวัญใจนักท่องเที่ยว---
ForwardKeys ยังเผยให้เห็นว่า 3 ชายหาดที่ได้รับความนิยมมากสุดของโลก ได้แก่ ไทย, ฮาวาย และมัลดีฟส์
“โดยปกติแล้ว ช่วงโลว์ซีซันของไทยจะอยู่ช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน โดยเฉพาะะเดือนเมษายนและพฤษภาคม เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดมากในประเทศไทย แต่สำหรับช่วงโลว์ซีซันนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้นกว่า 7% นั่นหมายความว่า ไทยจะมีช่วงโลว์ซีซันที่น้อยมาก ๆ”
“กล่าวนัยหนึ่งคือ จะไม่มีโลว์ซีซันในสถานที่ท่องเที่ยวแบบนั้น” พอนติ กล่าว
ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยช่วงโลว์ซีซัน เมื่อปี 2566 อยู่ที่ 13,541,351 คน เทียบกับปี 2565 อยู่ที่ 6,372,422 คน หรือ คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 112.5%
ข้อมูลจาก: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
---การเที่ยวช่วง ‘ไฮซีซัน’ ก็ไม่ได้แย่---
แม้คุณจะได้ฟังข้อดีของการเที่ยวแบบโลว์ซีซันไปแล้ว และมองเห็นว่า ไฮซีซันช่างน่าวุ่นวาย แต่จริง ๆ การเที่ยวในแต่ละช่วงมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น การเที่ยวช่วงไฮซีซัน จะมีข้อได้เปรียบในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ที่มีรอบการเดินทางมากกว่าปกติ หรือ บางแห่งจะมีให้บริการแค่ช่วงนี้ช่วงเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ ร้านค้าและร้านอาหารตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง อาจเปิดให้บริการแค่เฉพาะช่วงไฮซีซัน ขณะที่ ในช่วงโลว์ซีซันบางร้านอาจจะจำกัดเวลาเปิดปิดให้สั้นลง
แต่สิ่งที่ต้องแลกกับการเที่ยวในช่วงไฮซีซันคือ ต่อคิวรอยาว เผชิญสภาพอากาศร้อนจัด ราคาค่าตั๋วและอาหารที่แพงขึ้น
---นักท่องเที่ยวล้นเมือง กระทบคนท้องถิ่น---
แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นคืนกลับมาเกือบร้อยเปอร์เซนต์แล้วในหลายพื้นที่ แต่การที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาตลอดเกือบทั้งปี ก็ส่งผลกระทบต่อคนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน จนรัฐบาลต้องออกมาตราการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง
ยกตัวอย่างเช่น การห้ามสร้างโรงแรมใหม่ในอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงเนเธอแลนด์, การสร้างตาข่ายกันนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปถ่ายรูปภูเขาไฟฟูจิบริเวณหน้าร้านลอว์สัน และการประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนหมู่เกาะคานารีของสเปน ที่ทนไม่ไหวกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง เป็นต้น
“การเดินทางทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางในช่วงไฮซีซันก็จะยังคงอยู่ แต่การท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซันจะคึกคักยิ่งกว่าเดิม” พอนติ กล่าว
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://edition.cnn.com/travel/the-end-of-off-season-travel-cmb/index.html
https://www.homa.co/post/workation-the-ultimate-trend-for-work-life-balance
https://www.nytimes.com/2023/09/19/travel/off-season-travel.html
https://www.mots.go.th/news/category/411
ข่าวแนะนำ