ทำไม “เจ้าภาพยูโร” แทบไม่ค่อยคว้าแชมป์ ทั้งที่ได้เปรียบเรื่องเสียงเชียร์
สถิติย้อนหลังของฟุตบอลยูโร 16 ครั้ง จะพบว่ามีเพียง “3 ครั้ง” เท่านั้นที่เจ้าภาพสามารถคว้าแชมป์ได้ในแผ่นดินของตนเอง และที่น่าตกใจคือ เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว ที่เจ้าภาพยูโรไม่ได้สัมผัสกับถ้วยอีกเลย นับตั้งแต่ฝรั่งเศสทำได้สำเร็จในปี 1984
การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ โดยเฉพาะฟุตบอลยูโร ที่ถือว่าเป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรปและของโลก
นอกจากข้อดีด้านชื่อเสียง เกียรติยศ และความภาคภูมิใจของประเทศ การเป็นเจ้าภาพยังได้เปรียบในเรื่องเสียงเชียร์ การส่งแรงใจ และการกดดันคู่ต่อสู้อย่างมาก เจออะไรแบบนี้อาจจะมีฝ่อได้เหมือนกัน
แต่หากพิจารณาสถิติย้อนหลังของฟุตบอลยูโร 16 ครั้ง จะพบว่ามีเพียง “3 ครั้ง” เท่านั้นที่เจ้าภาพสามารถคว้าแชมป์ได้ในแผ่นดินของตนเอง นอกนั้นเป็นชาติที่เข้าร่วมทั้งสิ้น
และที่น่าตกใจคือ เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว ที่เจ้าภาพยูโรไม่ได้สัมผัสกับถ้วยอีกเลย นับตั้งแต่ฝรั่งเศสทำได้สำเร็จในปี 1984
เหตุใดจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ติดตามได้ในบทความนี้
เสียงเชียร์เป็นแรงกดดัน
การเป็นเจ้าภาพจริง ๆ ก็มีดาบสองคม เพราะถึงแม้จะมีแรงเชียร์มหาศาล สร้างความกดดันให้แก่คู่ต่อสู้ได้ แต่แรงกดดันที่ว่านี้ บางทีก็สามารถเกิดขึ้นแก่เจ้าภาพได้เช่นกัน
เพราะอย่าลืมว่า การได้เป็นเจ้าภาพนั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งต่อแฟนบอลในประเทศที่ทีมจะต้องทำผลงานให้ได้ดีที่สุด และต้องดีให้มากกว่าการไปเข้าร่วมแข่งขันในประเทศอื่น ๆ อย่างน้อย ๆ ต้องเข้ารอบให้ลึกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ยิ่งสำหรับทัวร์นาเมนต์ยูโรที่ประเทศเจ้าภาพเป็น “มหาอำนาจลูกหนัง” มาตรฐานเดียวที่จะต้องไปให้ถึงนั่นคือ การคว้าแชมป์
ตรงนี้ จะเห็นได้จากการที่ฝรั่งเศสแพ้โปรตุเกสในยูโร 2016 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ซึ่งได้รับฟีดแบ็คจากประชาชนว่า “ผิดหวังแบบสุด ๆ” มากกว่าที่แพ้ให้กับอาร์เจนตินาในฟุตบอลโลก 2022 มากกว่าเป็นไหน ๆ
แต่ก็มีข้อโต้แย้ง จากในงานศึกษา The less obvious effect of hosting the Olympics on sporting performance และ The effect of hosting on performance of host countries in summer and winter Olympic Games เขียนโดย Gergely Csurilla และ Imre Fertő ได้เสนอไปในทิศทางเดยวกันว่า การเป็นเจ้าภาพไม่ได้มีผลให้ ผลงานในสนาม (Performance) ในการแข่งขันของตัวแทนชาติเจ้าภาพลดลงแต่อย่างใด
โดยทำการเก็บสถิติย้อนหลังของประเทศเจ้าภาพนั้น ๆ ซึ่งได้จข้อสรุปว่า จะก่อนหน้าที่เป็นเจ้าภาพหรือหลังเป็นเจ้าภาพ จำนวนการได้เหรียญทองก็ไม่แตกต่างกันมากมายเท่าไร มิหนำซ้ำ การเป็นเจ้าภาพยังทำให้ได้รับเหรียญรางวัลมากยิ่งขึ้น
หรือในกรณีศึกษาโอลิมปิก 1968 ที่เม็กซิโก ที่พบว่า “ความสูงของระดับน้ำทะเล” ของประเทสเจ้าภาพ ยังส่งผลต่อผลงาน มากกว่าเงื่อนไขเรื่องแรงกดดันจากเสียงเชียร์เสียด้วยซ้ำไป
แต่เมื่อพิจารณาดี ๆ จะพบว่า แบบแผนของมหกรรมโอลิมปิกและยูโรมีความแตกต่างกัน โอลิมปิกส่วนมากจะเป็นกีฬาแบบเดี่ยว ๆ หากโด่งดังก็โด่งดังผู้เดียวในฐานะตัวแทนของชาติ ส่วนฟุตบอลยูโรคือประเภททีม แม้จะมีนักฟุตบอลที่เก่งเลิศเลอขนาดไหน แต่หากมีผู้หนึ่งฝ่อ เก่งแทบตายก็พร้อมฝ่อไปด้วยได้เหมือนกัน
ดังนั้น มาตรวัดเรื่องการเป็นเจ้าภาพที่ไม่ได้ส่งผลต่อผลงาน จึงเกิดได้เฉพาะในโอลิมปิกเท่านั้น สำหรับยูโรแล้ว เสียงเชียร์คือแรงกดดันไม่น้อย
สอดคล้องกับงานศึกษา Hosting Major International Sports Events in a Country: A Socioeconomic Impact เขียนโดย Girish Karunakaran Nair
ที่เสนอว่า การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานั้น แม้จะมีผลต่อการสร้างความกดดันใน Performance แต่ไม่มีผลต่อการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคม หากเจ้าภาพจัดงานได้มีมาตรฐาน ไม่ว่าจะตกรอบแรกแบบห่วยบรมขนาดไหน แต่ก็จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศไม่ต่างกับแชมป์เลยทีเดียว
รูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนไป
ข้างต้นคือเรื่องนามธรรม ส่วนเรื่องรูปธรรม อาจจะต้องไปพิจารณาที่ “รูปแบบการแข่งขัน” ของยูโร
จากการที่เจ้าภาพได้แชมป์ทั้ง 3 ครั้ง คือ สเปน ในปี 1964 อิตาลี ในปี 1968 และ ฝรั่งเศส ในปี 1984 จะพบว่า 2 ครั้งแรกนั้น มีทีมเข้าร่วมเพียง 4 ทีมเท่านั้น หรือหมายความว่า เตะเพียง 2 แมทช์ก็ได้แชมป์แล้ว
ในยุคที่ยูโรยังไม่ได้รับความนิยม และวิทยาศาสตร์การกีฬายังไม่ได้เฟื่องฟู ทีมชาติในแถบยุโรปถือได้ว่ามาตรฐานไม่ห่างกันมาก ประกอบกับการเข้าร่วมเพียง 4 ทีม และแข่งขันแบบน็อกเอาท์ ไม่ได้พบกันหมด ทำให้ความได้เปรียบจะตกไปอยู่กับเจ้าภาพทันที
อีกทั้ง ยุคนั้นยังไม่มีการ “ดวลจุดโทษชี้ขาด” ยังใช้ระบบหากเสมอกันก็ให้โยนเหรียญตัดสิน ในกรณีของอิตาลีมีดราม่ามาแล้ว ในรอบรองชนะเลิศ ที่พวกเขาเสมอกับสหภาพโซเวียต และโยนเหรียญตันสินชนะ ท่านกลางคำครหาว่ามีการเล่นตุกติก ในรอบชิงชนะเลิศ จึงเปลี่ยนมาเป็นการแตะรีเพลย์แทน
และหลังจากนั้น ในฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก จึงได้ยกเลิกการโยนเหรียญ และเปลี่ยนให้มาต่อเวลาพิเศษแบบโกลเดนโกลด์ [ยิงเข้าชนะเลย] และหากทำอะไรกันไม่ได้ ก็ให้ “เตะจุดโทษ” ชี้ขาดแทน เพื่อป้องกันปัญหาและความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น
ส่วนฝรั่งเศสนั้น ต้องยอมรับว่าได้แชมป์เพราะความสามารถอย่างแท้จริง เพราะมีนักเตะระดับตำนานนามว่า “มิเชล พลาตินี” ที่โชว์ฟอร์มได้สูงกว่ามาตรฐานจนเรียกได้ว่าระดับเทพเจ้าเลยก็ว่าได้
และยิ่งไปกว่านั้น ในระยะหลังมานี้ ทีมชาติเจ้าภาพที่เป็นมหาอำนาจฟุตบอลยังได้พ่ายแพ้ในแมทช์ชิงชนะเลิศถึง 2 ครั้ง นั่นคือ โปรตุเกส ในปี 2004 และ ฝรั่งเศส ในปี 2016 ซึ่งเป็นการพ่ายแพ้ให้ทีมที่อ่อนชั้นกว่าทั้งสิ้น
ตรงนี้ อาจจะหมายความว่า ระบบการแข่งขันที่เพิ่มทีมมากขึ้นเป็น 24 ทีม ทำให้เพิ่มโอกาสแก่ทีมชาติอื่น ๆ ในการปรับตัวให้เข้ากับเสียงเชียร์ แรงกดดันของเจ้าภาพ โดยเฉพาะการให้ทีมอันดับที่ 3 ที่ดีที่สุดในรอบแบ่งกลุ่มเข้ารอบตามไปได้ (ปกติจะเข้ารอบ 2 ทีมจาก 4 ทีมในแต่ละกลุ่ม) ยิ่งทำให้เห็นว่า โอกาสในการแก้ตัวของทุกทีมชาติมีเสมอ แมทช์นี้เล่นห่วย แมทช์หน้าจะค่อย ๆ พัฒนาตามลำดับ
ดังนั้น การเป็นเจ้าภาพยูโรในยุคปัจจุบัน อาจไม่ได้ส่งผลอะไรมากมาย ผลลัพธ์ของการแข่งขันจึงกลับมาที่ “ฝีมือ” เป็นหลักก็เป็นได้
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
บทความ Optimising the potential of mega-events: An overview
บทความ The less obvious effect of hosting the Olympics on sporting performance
บทความ Hosting Major International Sports Events in a Country: A Socioeconomic Impact
รายงานวิจัย The effect of hosting on performance of host countries in summer and winter Olympic Games
https://theanalyst.com/eu/2024/06/european-championship-host-nations-performances/
ข่าวแนะนำ