TNN ทำไมคนเกาหลีใต้บางส่วน ถึงยังนิยมทานเนื้อสุนัข แม้กฎหมายห้ามแล้ว

TNN

TNN Exclusive

ทำไมคนเกาหลีใต้บางส่วน ถึงยังนิยมทานเนื้อสุนัข แม้กฎหมายห้ามแล้ว

ทำไมคนเกาหลีใต้บางส่วน ถึงยังนิยมทานเนื้อสุนัข แม้กฎหมายห้ามแล้ว

แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง “เกาหลีใต้” ก็ยังมีบริโภคเนื้อสุนัขเช่นกัน แถมยังมีปริมาณการบริโภคมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก

การบริโภคเนื้อแดงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัว มักถูกมองเป็นการทานอาหารที่ผิดแผกไปจากสังคมทั่วไป และเนื้อที่มีคนทานแล้วสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง หนีไม่พ้น “เนื้อสุนัข” 


ส่วนใหญ่ประเทศที่บริโภคเนื้อสุนัข มักจะเป็นคนบางกลุ่มในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจน โดยเฉพาะในเอเชีย อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ หรือไทย แถว ๆ สกลนคร 


ความน่าสนใจอยู่ที่แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง “เกาหลีใต้” ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่บริโภคเนื้อสุนัขเช่นกัน แถมยังมีปริมาณการบริโภคมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก


ทานกันมานานแล้ว


คนเกาหลีใต้ทานเนื้อสุนัข คิดเป็นประมาณ 2.5 ล้านตัวต่อปี หรือเฉลี่ย 0.05 ตัวต่อประชากรที่มีกว่า 52 ล้านคน 

52% ของประชากรเกาหลีใต้ หรือประมาณ 27 ล้านคน ล้วนเคยบริโภคเนื้อสุนัข แบ่งเป็นบริโภคแบบนาน ๆ ที 39% และบริโภคเป็นประจำ 13%


ทำไมคนเกาหลีใต้บางส่วน ถึงยังนิยมทานเนื้อสุนัข แม้กฎหมายห้ามแล้ว
ที่มา: USA Today


มีถึง 16% ที่ระบุว่า ถูกใจในรสชาติของเนื้อสุนัข นั่นหมายความว่า คนเกาหลีใต้ราว 9 ล้านคน นิยมทานเนื้อสุนัขก็ว่าได้ [จากการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 1,006 คน]


เกาหลีใต้บริโภคเนื้อสุนัขมาตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรโบราณแล้ว เนื้อสุนัขนั้น ตาม “ลัทธิขงจื่อ” ถือว่าเป็นเนื้อที่มีคุณภาพสูงสุด จนได้รับขนานนามว่า “เนื้อขงจื่อ (Confucian Meat)” 


สุนัขตามคคติของขงจื่อ มีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ ได้แก่ การเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อล่า การเป็นยามเฝ้าเจ้านาย และการเป็นอาหาร ซึ่งการเป็นอาหารนั้นได้รับความนิยมที่สุด จนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 มีการทำฟาร์มสุนัขเป็นปศุสัตว์ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภค


ตำราอาหารของเกาหลี จัดประเภทเมนูเนื้อสุนัขได้ถึง 14 ชนิดที่ต่างกัน อาทิ เคจังกุก หรือซุปน้ำต้มเนื้อสุนัข, เคซูคยุก หรือเนื้อสุนัขต้มเค็ม, เคซ็อนแด หรือใส้กรอกเนื้อสุนัข โพชินทัง แกงเนื้อสุนัขตุ๋นเครื่องเทศ กระทั่ง “เคโซจู” หรือเหล้าขาวดองเนื้อสุนัขก็มี


นอกจากเรื่องทางคติขงจื่อแล้ว ชาวเกาหลียังเชื่อกันว่า เนื้อสุนัขเป็น “ยาบำรุงกำลัง” ช่วยเพิ่มกำลังวังชาของชาวนาในการทำไร่ทำสวนช่วงหน้าร้อน และเป็น “ยารักษาโรค” ชั้นดี 


ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วง “สงครามเกาหลี (1950-1953)” เนื้อสุนัขคือแหล่งโปรตีนชั้นดีของประชาชนในยามศึกสงครามขาดแคลนอาหาร ทำให้ช่วงนั้นมีการบริโภคสุนัขแบบทั้งตัว


ทั้งหมดนี้ เป็นหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ว่า เกาหลีคุ้นชินกับการบริโภคสุนัขมาแต่โบราณ จึงไม่ถือเป็นการบริโภคแบบแปลกและผิดแผกแต่อย่างใด จนเมื่อก้าวสู่โลกร่วมสมัย ความคิดเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุนัขก็เปลี่ยนแปลงไป


ยิ่งห้ามยิ่งยุ


หลังสงครามเกาหลี ก็เข้าสู่สงครามเย็น ช่วงนี้ เกาหลีใต้ได้พัฒนาตามแบบตะวันตกแทบทุกอย่าง แน่นอน ไม่เพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือโครงสร้างสังคม แต่ยังมีเรื่อง “มาตรฐานการบริโภคและสารอาหาร” อีกด้วย


แน่นอน โลกตะวันตกไม่บริโภคโปรตีนที่นอกเหนือไปจากไก่ หมู และวัว หากเกาหลีใต้ไม่ปรับมาบริโภคตามนี้ ก็จะผิดแผกไปจากชาติตะวันตก และทำให้การบริโภคสุนัขของเกาหลีถูกมองเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน” ไปในทันที 


หรือก็คือ จริง ๆ แล้วการบริโภคเนื้อสุนัขไม่เคยเป็นปัญหาและไม่ได้แปลกประหลาด เพียงแต่ไม่เข้ากันกับความเป็นตะวันตกที่เกาหลีใต้อยากจะเป็นเท่านั้น


พัค ช็อง ฮี ประธานาธิบดี ณ ตอนนั้น จึงได้ออกมาตรการในการส่งเสริมการบริโภคเยี่ยงตะวันตก โดยเน้นไปที่โปรตีนเป็นหลัก เพื่อสร้างประชากรที่แข็งแรง เข้ามาช่วยพัฒนาชาติด้วยอุตสาหกรรมหนัก รวมถึงเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของประชากรให้เป็นมาตรฐาน ปลอดโรคภัยไข้เจ็บ ถูกหลักสุขอนามัยอีกด้วย 


โดยค่ามาตรฐานของโปรตีนจะอยู่ที่ 25 กรัมต่อมื้อ และไม่ควรเกิน 830 กิโลแคลอรี่ต่อวัน


ทำไมคนเกาหลีใต้บางส่วน ถึงยังนิยมทานเนื้อสุนัข แม้กฎหมายห้ามแล้ว
ที่มา: The unique aspects of the nutrition transition in South Korea: the retention of healthful elements in their traditional diet


การรณรงค์แบบนี้ ไม่ได้ทำให้การรับประทานเนื้อสุนัขหมดไปอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งประชาชนออกมาประท้วงมากขึ้น โดยยึดโยงแนวความคิดมาจากพัค ช็อง ฮี เรื่องการบริโภคโปรตีนแบบตะวันตกเอง การกดดันมีมากขึ้น จนรัฐบาสต้องออกกฎหมายสุขลักษณะอาหาร (Food Sanitation Law) ในปี 1984 ด้วยบัญญัติที่ว่า ร้านอาหารไม่ควรเสิร์ฟของประเภท “น่าขยะแขยง น่ารังเกียจ ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ดีต่อสุขภาพ” ซึ่งหมายถึงเนื้อสุนัขแบบกลาย ๆ 


จนกระทั่งเกาหลีใต้จัดโอลิมปิก 1988 เนื้อสุนัข (และเนื้อแมว) ถูกแบนไม่ให้จำหน่าย เพราะอาจทำให้ประเทศอับอายในสายตาโลก จะทำให้ประเทศอับอาย หากฝ่าฝืนจะมีการปรับ และออกเป็นกฎหมายคุ้มครองสัตว์ในปี 1991 ในมาตรา 6 ว่าด้วย การกระทำความผิดอาญาเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อสัตว์ ความว่า ประการแรก ห้ามมิให้ผู้ใดทำการฆาตกรรมด้วยทารุณกรรมและความสยองต่อสัตว์ด้วยเหตุอันไม่สมควร ประการสุดท้าย ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้สัตว์การบาดเจ็บด้วยเหตุอันไม่สมควร


แต่กฏหมายนี้ก็มีช่องทางสำหรับผู้รักในรสชาติของสุนัข เพราะกฏหมายไม่มีผลบังคับใช้กับอุตสาหกรรมฟาร์มและสิ่งทอ ทำให้การเชือดสุนัขไม่ผิดกฏหมายหากดำเนินการในรูปแบบธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ เราจึงเห็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสุนัขได้ทั่วไปตามท้องถนนของเกาหลีใต้ตราบจนปัจจุบัน


สถิติจากงานศึกษา Good to Pet and Eat: The Keeping and Consuming of Dogs and Cats in South Korea ยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่า นับตั้งแต่หลังสงครามเกาหลีเป็นต้นมา ประชากรสุนัข (นับทั้งสุนัขจรจัดและมีเจ้าของ) ลดลงในเขตเมืองของเกาหลีใต้ไปแล้วกว่า 82% ซึ่งแตกต่างจากการลดลงในช่วงหลังสงครามเกาหลีที่ 25% ไปกว่า 1 ใน 3 เลยทีเดียว


มองเกาหลี มองไทย


มีสัญญาณบวกอยู่บ้างในเกาหลีใต้ เพราะได้ผ่านกฏหมายห้ามจำหน่ายเนื้อสุนัข โดยอาจจะบังคับใช้ภายในปี 2027 แล้วสำหรับประเทศไทยนั้น สถานการณ์เป็นอย่างไร


ประเทศไทยมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยระบุไว้ในมาตราที่ 20 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”


แต่ว่ากฏหมายมีช่องว่าง เพราะ “การฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร” ไม่เข้าข่ายในมาตรานี้แต่อย่างใด เพราะหากผิดจริง ชาวเมืองท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ก็อาจจะติดคุกยกหมู่บ้านไปนานแล้ว


และจากสถิติของ Mordor Intelligence ในเรื่องของอัตราการบริโภคสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย พบว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะบริโภคสัตว์เลี้ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีสุนัขคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ในปี 2022 การบริโภคสุนัขในประเทศไทยคิดเป็น 64.42% ของส่วนแบ่งตลาดการบริโภคสัตว์เลี้ยงทั้งหมด โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 12.21% ต่อปี


ทำไมคนเกาหลีใต้บางส่วน ถึงยังนิยมทานเนื้อสุนัข แม้กฎหมายห้ามแล้ว
ที่มา: Mordor Intelligence


ตรงนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การบริโภคเนื้อสุนัขของไทยมีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น สวนทางกับกฏหมายคุ้มครองสัตว์ที่ผลบังคับใช้มีแต่จะแย่ลงตามลำดับ


—ข้อคิดจากบทความนี้—


บางอย่างที่คนคิดว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด อาจจะมาจากวิธีคิดที่ถูกปลูกฝังอยู่โดยไม่รู้ตัว หากไม่พิจารณาให้ดี ก็อาจคิดไปว่าสิ่งที่ไม่เข้ากับจริตตนนั้นเป็นสิ่งที่ผิดไปเสียหมด จนอาจหลงลืมไปว่า บางสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดหรือแปลกเพราะวิธีคิด ไม่ได้ผิดหรือแปลกในตนเองแต่อย่างใด การบริโภคเนื้อสุนัขก็เช่นกัน


*บทความนี้ไม่สนับสนุนการทานเนื้อสุนัขแต่อย่างใด*


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ข่าวแนะนำ