TNN “น้ำท่วม” ดีกว่า “ฝนแล้ง” วาทะจอมพล ป. ระดับตำนาน จนกลายเป็นเพลงสุดติดหู

TNN

TNN Exclusive

“น้ำท่วม” ดีกว่า “ฝนแล้ง” วาทะจอมพล ป. ระดับตำนาน จนกลายเป็นเพลงสุดติดหู

“น้ำท่วม” ดีกว่า “ฝนแล้ง” วาทะจอมพล ป. ระดับตำนาน จนกลายเป็นเพลงสุดติดหู

ประเด็นของ “ภัยแล้ง” จากปรากฏการณ์ “เอลนินโญ” ทำให้บรรดาเกษตรกรออกมาโอดครวญถึงผลผลิตที่จะสูญเสียไป แม้กระทั่งภาคประชาชนมีน้ำสำหรับบริโภคไม่เพียงพอ

“สภาพอากาศ” ปัจจุบันในประเทศไทย ถือว่าสร้างความระทมแก่ประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะ ในประเด็นของ “ภัยแล้ง” จากปรากฏการณ์ “เอลนินโญ” ที่ทำให้บรรดาเกษตรกรออกมาโอดครวญถึงผลผลิตที่จะสูญเสียไป แม้กระทั่งภาคประชาชนมีน้ำสำหรับบริโภคไม่เพียงพอ


กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังเช่นกัน นั่นคือ “น้ำท่วม” ซึ่ง ณ ตอนนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังประสบอยู่ เพราะประเทศไทยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมได้ง่าย 


แต่ความน่าสนใจ นั่นคือ เมื่อสืบสาว “ทางประวัติศาสตร์” จะพบว่า ประเทศไทยนั้น “อภิรมย์” กับสถานการณ์น้ำท่วมมากกว่าภัยแล้ง ถึงขนาด หยิบยกขึ้นมาตีประเด็น ผ่านบทเพลง “ลูกทุ่ง” ในยุคพุทธทศวรรษ 2500s เลยทีเดียว


ร่วมติดตาม “รอยทาง” ดังกล่าวนี้ไปพร้อมกัน


ชาวสยามชอบน้ำท่วม


“น้ำท่วมใหญ่ ซึ่งดูเป็นที่น่ารำคาญและทำความเสียหายให้มากนี้ กลับนำประโยชน์และความชื่นชอบมาสู่คนสยามเป็นอันมาก เพราะเหมือนกับแม่น้ำไนล์ คือทำให้พื้นดินอุดมและนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ  ที่กลัวกันมากก็คือความแห้งแล้งเท่านั้น เพราะทำให้ข้าวมีราคาแพงมาก …”


เบื้องต้น คือบันทึกของ นิโกลาส์ แฌร์แวส์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ที่ได้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ยังอาณาจักรอยุธยา สมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ชาวสยามเมื่อครั้งอดีต ให้ความสำคัญกับน้ำท่วมมากยิ่งกว่าความแห้งแล้ง 


เพราะอย่าลืมว่า พืชเศรษฐกิจหลักของชาวสยาม ตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ “ข้าว” ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำในระดับสูงมาก และเป็นพืชที่ขาดน้ำไปแม้เพียงเล็กน้อยย่อมไม่ได้ อาจทำให้ต้นกล้าเหี่ยวเฉาในทันที 


ดังนััน ในการที่จะ “ชั่งน้ำหนัก” ภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วมจึง “สร้างข้อเสียเปรียบน้อยกว่า” ความแห้งแล้งอย่างมาก


อีกทั้ง ชาวไทยในสมัยก่อนยัง “หาประโยชน์” และ “หาความบันเทิง” จากน้ำท่วมได้ หากน้ำท่วมในระดับสูงมาก ๆ ก็จะไม่ต้องออกไปหว่านแหจับปลา เพราะจะมีปลามาเกยให้ถึงหน้าบ้าน และยังได้มีการคิดค้น “การละเล่น” ทางน้ำ โดยใช้เรือพาย เป็นต้น ดังที่เห็นได้จากบันทึกเพิ่มเติมของ แฌร์แวส์ ดังนี้ 


“สิ่งที่ให้ประโยชน์อีกประการหนึ่งในกรณีที่น้ำท่วม ก็คือ มีปลาเป็นอันมาก และมากเสียจนกระทั่งว่า แม้จะไม่ต้องลงจากเรือน คนหนึ่ง ๆ จะตกปลาได้ภายในหนึ่งชั่วโมงพอใช้บริโภคไปได้หลายวันทีเดียว อนึ่ง ตลอดเวลาที่น้ำท่วม จะมีการเล่นสนุกสนานบนน้ำและการแข่งยานทางน้ำ ซึ่งคนสยามเรียกว่า เรือ (Rüa) และคนปอรตุเกศเรียกว่า บาล็อง (Balon) ดูสนุกมาก …”


ทั้งนี้ ชุดวิธีคิดดังกล่าว ยังคง “ดำรง” มาจนถึงสมัย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เลยทีเดียว


น้ำท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า


เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของไทยครั้งหนึ่งที่ถือว่า “สาหัสที่สุด” ย่อมหนีไม่พ้น พ.ศ. 2485 ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม 


แน่นอน น้ำท่วมในครานั้น สร้างความเสียหายในวงกว้างแก่ “พระนคร” อย่างมาก เพราะอย่าลืมว่า เขตเมืองหลวงนั้น ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย และสำนักงาน เป็นหลัก ไม่เหมือนตามชนบทที่เป็นภาคเกษตรกรรม ที่ต้องการน้ำมากกว่า


ดังนั้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ประชาชน ท่านจอมพลจึงได้ทำการ “แสดงความเชื่อมั่น” ออกมาผ่านการเขียนบทความลงงานเขียน “สามัคคีไทย” โดยมีใจความว่า


“ดูจะจิงหย่างที่พูดกันทั่วไป หรือจะไหลตามน้ำมาก็ได้ว่า น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง”


ด้วยแรกเริ่มที่พยายามสร้างความเชื่อมั่นนี้ แต่พอแพร่กระจายสู่ผู้คนแล้ว กลับกลายเป็นวาทะที่ “ติดหู” อย่างมาก โดยหนึ่งในนั้น เป็นครูเพลงที่ชื่อว่า “ไพบูลย์ บุตรขัน”


ราวปี พ.ศ. 2511 - 2512 “สงอม ทองประสงค์” หรือ “น้อย” ต้องการเข้ามาฝากตนเป็นศิษย์กับครูไพบูลย์ และในการพูดคุย ครูไพบูลย์ประทับใจในเรื่องราวของน้อย เมื่อครั้งยังทำอาชีพปาดสัปปะรดอยู่ที่ประจวบคีรีขันธ์ และประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2485 จนทำให้ไร่สัปปะรดเสียหาย และทำให้ตนและครอบครัวตกงาน แทบไม่มีกิน


ครูไพบูลย์จึงได้ไอเดียในการแต่งเพลง เรื่องราวประมาณว่า ที่ว่าน้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง อาจจะไม่เป็นความจริงเสมอไป และได้นำเรื่องราวของน้อยเข้ามาประกอบการดำเนินเนื้อเพลง


ท้ายที่สุด เพลงนี้ได้ชื่อว่า “น้ำท่วม” ก่อนที่จะดังเป็นพลุแตก แจ้งเกิดให้กับน้อยในฐานะนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง นามว่า “ศรคีรี ศรีประจวบ”


และนี่คือเนื้อเพลงน้ำท่วม จากปลายปากกาของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน


“น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบน้ำตา พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลคลอสายชล น้ำท่วม ใต้ฝุ่นกระหน่ำซ้ำสอง เสียงพายุก้อง เหมือนเสียงของมัจจุราชบ่น 

น้ำท่วมที่ไหน ก็ต้องเสียใจด้วยกันทุกคน เพราะต้องพบกับความยากจน เหมือนคนหมดเนื้อสิ้นตัว 

บ้านพี่ ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ที่ประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกันไปทุกครอบครัว 

ผืนนาก็ล่ม ไร่แตงก็จมเสียหายไปทั่ว พี่จึงเหมือนคนหมดตัว หมดตัวแล้วนะแก้วตา น้ำท่วม พี่ต้องผิดหวังชอกช้ำ พี่คิดเช้าค่ำ ปล่อยให้น้ำท่วมตายดีกว่า 

น้องอยู่บ้านดอน ช่างไม่อาทรถึงพี่สักครา ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลย”

เมื่อมาถึงตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือน้ำท่วม ทั้งหมดนั้นต่างก็เป็น “ภัยพิบัติ” ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ ในโลกยุคปัจจุบันที่เผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิด “Severe Weather” สภาพอากาศร้ายแรงขึ้นทุกปี ในทุกมุมโลก ภัยแล้งจะแล้งหนักขึ้น น้ำท่วมก็จะท่วมหนักขึ้นเช่นกัน


เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำ นั่นคือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการและแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสิ่งที่คาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดขึ้นให้อยู่มือ จะเป็นคุณแก่ประชาชนไม่มากก็น้อย 


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_9641

https://www.silpa-mag.com/history/article_12300

https://www.silpa-mag.com/history/article_38197

https://www.finearts.go.th 



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง