สัตว์มีพิษ-อันตรายที่มากับ "น้ำท่วม" มีอะไรบ้าง? เปิดวิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกกัด-ต่อย
ฝนตก-น้ำท่วมต้องระวัง! สัตว์อันตราย หรือ มีพิษที่มาตอน "น้ำท่วม" พร้อมเปิดวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกกัด-ต่อย
ฝนตก-น้ำท่วมต้องระวัง! 5 สัตว์อันตราย หรือ มีพิษที่มาตอน "น้ำท่วม" พร้อมเปิดวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกกัด-ต่อย
ฝนตก น้ำท่วม หลังจากประเทศไทยเผชิญกับพายุโนรู ทำให้หลายพื้นที่ฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง ล่าสุดขณะที่หลายจังหวัดได้เผชิญกับน้ำท่วม ซึ่งบางจังหวัดถูกท่วมสูงหลายเมตรต้องอพยพออกจากบ้านเพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ ช่วงฝนตก น้ำท่วม สิ่งที่มักตามมากับน้ำ คือ สัตว์ต่างๆ ทั้งอันตรายและไม่อันตรายที่ชอบหนีน้ำมาแอบอยู่ในบ้านหรืออยู่ตามแหล่งน้ำท่วมขัง ซึ่งสัตว์บางชนิดเสี่ยงต่ออันตราย วันนี้ TNN Online ได้นำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ สัตว์มีพิษ ที่มากับ "ฝนตก น้ำท่วม" มาให้ได้อ่านกัน เพื่อที่จะได้เตรียมรับมือสัตว์มีพิษกัดต่อยได้อย่างไร รวมไปถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
1. งู
สัตว์มีพิษอันตรายอันดับต้นๆ ที่ชอบหนีน้ำมาอาศัยอยู่ในบ้านคน หรือชอบขดตัวอยู่ในรองเท้า ตู้ไปรษณีย์ หรือออกมาจากชักโครกตามที่เห็นกันในข่าว งูพิษที่พบได้หลักๆในประเทศไทย แบ่งเป็น
-งูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูทับสมิงคลา และงูสามเหลียม งูชนิดนี้จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
-งูพิษที่มีผลต่อระบบเลือด เช่น งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ เป็นพิษงูที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดมากขึ้น เลือดไหลไม่หยุด
-งูพิษที่มีผลต่อระบบกล้ามเนื้อ เช่น งูทะเล ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง
วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด
เพื่อลดหรือชะลอการแทรกซึมของพิษงู และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
-รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด และนำซากงูที่กัดไปด้วย (ถ้ามี) หรือจดจำลักษณะงูที่กัด เพื่อความถูกต้องในการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหางู
-ล้างแผลบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
-พยายามให้บริเวณที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด สามารถทำการดามโดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆและปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
-ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด และไม่ควรใช้สมุนไพรพอก เพราะจะทำให้แผลสกปรกเกิดการติดเชื้อ และอาจเป็นบาดทะยักในภายหลังได้
-ไม่ควรขันชะเนาะหากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี เพราะอาจทำให้บริเวณที่ถูกกัดบวมและเนื้อตายมากขึ้น
2. ปลิง
เป็นสัตว์ที่ชินกับน้ำ ชอบอาศัยอยู่ในคลอง บึง กินเลือดเป็นอาหาร ในกรณีที่ต้องมีการเดินลุยน้ำแนะนำให้แต่งกายให้มิดชิด เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่รองเท้าบูท
วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกปลิงกัด
-เมื่อถูกทากหรือปลิงกัด ห้ามดึงออกเพราะจะทำให้เนื้อฉีกขาดเป็นแผลใหญ่ และเลือดหยุดยากขึ้น ควรใช้น้ำเกลือ น้ำส้มอย่างแรง หรือแอลกอฮอล์ หยอดรอบๆ ปากของมัน อาจใช้ไม้ขีดหรือบุหรี่จุดไฟจี้ที่ตัว จะทำให้หลุดได้ ในกรณีที่เลือด ยังไม่หยุดไหล ให้ห้ามเลือดโดยใช้ astringent และใช้ยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดแผล ในกรณีที่มีผื่นคันให้ใช้ calamine lotion หรือ topical steroid cream ทาได้ ควรรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมไปด้วย
3. ตะขาบ
ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะ และอาศัยอยู่ในหลายแหล่งพื้นที่ เช่น ใต้เปลือกไม้ ขุดรูในดิน ฯลฯ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นจนท่วมแหล่งที่อยู่อาศัย ตะขาบอาจจะหนีน้ำมายังที่พักอาศัยของคนได้ ดังนั้นตะขาบจึงเป็นสัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยเมื่อเวลาน้ำท่วม และตะขาบจะกัดคนโดยใช้เขี้ยวคู่หน้าและฉีดน้ำพิษเข้าไปในแผลที่กัด
โดยปกติพิษจะไม่รุนแรงถึงแก่ชีวิต ความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบที่กัด อาการส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการปวด คัน บวม แดงร้อน ในบริเวณที่ถูกกัด อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย และมักมีอาการดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง
วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อตะขาบกัด
-ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
-สามารถประคบน้ำเย็นครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อลดอาการปวด
-หลีกเลี่ยงการเกา แกะ บริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน
-ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้
-ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล
-ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงเช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
4. แมงป่อง
แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษที่ชอบอาศัยอยู่ในที่มืดและชื้น เช่น ใต้ใบไม้ ใต้ก้อนหิน หรือขุดรูอยู่ แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษที่มีขา 4 คู่ ขาคู่หน้ามีลักษณะเป็นกล้ามใหญ่ ส่วนหางเป็นปล้อง และปล้องสุดท้ายมีต่อมพิษร้ายและปลายปล้องจะมีอวัยวะที่ใช้ต่อย
อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่ถูกต่อย โดยมีอาการมากในวันแรกและมักหายได้เอง ส่วนรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก
วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อแมงป่องต่อย
-ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด
-สามารถประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่
-ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวด
หมายเหตุ : หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลง หรือในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
5. ด้วงก้นกระดก หรือ แมลงก้นกระดก
ในฤดูฝน แมลงที่ต้องระวังอีกชนิดหนึ่ง คือ ด้วงก้นกระดก หรือแมลงก้นกระดก เป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 7 – 10 มิลลิเมตร มีขนาดใหญ่กว่ายุงประมาณ 1 เท่าครึ่ง หัวสีดำ ลำตัวและท้องมีสีส้ม ยกเว้นปล้องสุดท้ายของท้องมีสีดำ เมื่อเกาะอยู่กับพื้นจะงอส่วนท้องส่ายขึ้นลง แมลงชนิดนี้จะอาศัยในที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำ นาข้าว หรือตามพงหญ้า พบชุกชุมและมักมีการระบาดของการเป็นพิษในฤดูฝน
การได้รับสารพิษจากแมลงชนิดนี้ อาจเกิดในเวลากลางคืน แมลงชนิดนี้ชอบเล่นไฟ จึงมักบินเข้าไปในบ้านที่เปิดแสงไฟ จากนั้นอาจจะไปเกาะตามร่างกาย แขน ขา คอ ใบหน้าของคน เมื่อคนไปปัด ตบ ตี หรือบี้ตัวมัน แมลงหรือซากของมันจะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้เป็นพิษต่อผิวหนัง สารพิษจะทำให้บริเวณผิวหนังที่สัมผัส มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ ปวดแสบปวดร้อน คัน และอาจลามไปตามที่สารพิษไหลไปโดน ในบางครั้งผื่นจะมีลักษณะเป็นเส้นตรง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้ด้วย ผื่นดังกล่าวจะถูกพบในตอนเช้า ผื่นและตุ่มน้ำดังกล่าวมักจะแตก ทำให้ผิวหนังคล้ายถูกน้ำร้อนลวก โดยทั่วไปจะหายใน 1 – 2 สัปดาห์
วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อสัมผัสแมลงก้นกระดก
-ในกรณีที่รู้ตัวทันทีหลังสัมผัส ให้รีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาด
-เมื่อพบเห็นหรือถูกแมลงชนิดนี้เกาะที่ร่างกายห้ามตี หรือขยี้ด้วยมือเปล่า เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสผิวหนังให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงนี้ออกไปและรีบล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาดให้เร็วที่สุด
-หากอาการผื่นแดงรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการพบแพทย์และทายา
แมลงมีพิษต่างๆ
แมลงหลายชนิดที่มีเหล็กใน เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น เมื่อต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้ ภายในเหล็กจะมีพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรด บริเวณที่ถูกต่อยจะบวมแดง คัน และปวด อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงกัดต่อย
-ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด ถ้ามีเหล็กในให้ดึงออกทันทีเพื่อลดปริมาณพิษเข้าไปในร่างกายมากขึ้น
(ปกติพิษจะถูกฉีดจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว)
-ใช้เล็บมือหรือบัตรลักษณะแข็งค่อยๆ ขูดเอาเหล็กในออกมา หลีกเลี่ยงการใช้แหนบดึงเหล็กในออก เนื่องจากอาจทำให้พิษหลั่งออกมามากขึ้น
-สามารถประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่
-หลีกเลี่ยงการเกา แกะบริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน
-สามารถรับประทานยาต้านฮิสตามีน ทายากลุ่มยาต้านฮิสตามีน และยาทากลุ่มเสตียรอยด์ เพื่อลดอาการคัน ปวดแสบร้อน
-ถ้ามีอาการปวดสามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดได้
-ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นอาการใดๆ ที่แย่ลงหรือเริ่มรู้สึกว่าผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ มีรอยแดง
-การบวม หรืออาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น มีแผลพุพองหรือน้ำเหลืองบนบริเวณที่เกิดแผล
-ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น บวมบริเวณใบหน้า หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช็อคหมดสติ รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
-สำหรับผู้ป่วยที่มีโอกาสสัมผัสแมลงที่แพ้บ่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรได้รับยา epinephrine แบบพกติดตัว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินและเรียนรู้วิธีใช้ได้อย่างถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก พญ. นวลจันทร์ อภิวัฒนเสวี โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ / รพ.รามาฯ
ภาพจาก ผู้สื่อข่าวปราจีนฯ / AFP / TNN ช่อง 16