10 อาหารบำรุงปอด ช่วยฟื้นอาการป่วย Long Covid ให้กลับมาแข็งแรง
เปิด 10 กลุ่มอาหารบำรุงปอด ช่วยฟื้นอาการป่วยลองโควิด-19 (Long Covid) ให้กลับมาแข็งแรง พร้อมเคล็ดไม่ลับการปฏิบัติตัวดูแลสุขภาพปอดให้กลับมาสดใส
เปิด 10 กลุ่มอาหารบำรุงปอด ช่วยฟื้นอาการป่วยลองโควิด-19 (Long Covid) ให้กลับมาแข็งแรง พร้อมเคล็ดไม่ลับการปฏิบัติตัวดูแลสุขภาพปอดให้กลับมาสดใส
งานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักส่วนใหญ่พบว่าจะเกิดอาการ “Long COVID” (ลองโควิด" หรือ ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนหลังจากติดเชื้อโควิด
เนื่องจากร่างกายสร้างแอนติบอดีบางชนิดขึ้นมา และไปจับกับโปรตีนเซลล์อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น สมอง ปอด หรือ ทางเดินอาหาร ทำให้สร้างความเสียหายต่ออวัยวะเหล่านั้น
แม้จะหายจากการติดเชื้อโควิดแล้ว ผู้ป่วยจะยังคงมีอาการข้างเคียงอยู่ โดยโอกาสที่จะเกิดอาการดังกล่าวนั้น มีถึงร้อยละ 30-50
วันนี้ ทีมข่าว TNN Online ได้ร่วมพูดคุยกับ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ที่จะมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการ "บำรุงปอด" เพื่อฟื้นฟูให้ปอดกลับมาแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช็กลิสต์ รายชื่ออาหาร 10 กลุ่ม ช่วยบำรุงปอด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า "ปอด" ทำหน้าในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน เพราะฉะนั้น อาหารที่จะช่วยบำรุงปอด จะต้องมีสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระที่อาจะไปทำร้ายเนื้อเยื้อปอดได้ ซึ่งกลุ่มอาหารต่างๆ มีดังนี้
1.ขิง มีสารจินเจอรอล (gingerol) เป็นสมุนไพรที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร ช่วยต้านการอักเสบ ขณะเดียวกัน เมื่อดื่มน้ำขิงอุ่นๆ จะช่วยในเรื่องการขับเสมหะ
2.พริกหวาน เป็นแหล่งวิตามินซีชั้นดี โดยวิตามินซีนั้น จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติ
3.แอปเปิ้ล มีใยอาหาร วิตามินซี และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่า เควอซิทิน (Quercetin)
4. ฟักทอง มีสารอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพปอดหลายชนิด โดยเฉพาะแคโรทีนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วย เบต้าแคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน อีกด้วย
5. ขมิ้นชัน มีสารเคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นส่วนประกอบหลักการศึกษาวิจัยพบว่าการบริโภคเคอร์คูมินมีความสัมพันธ์กับการทำงานของปอดที่ดีขึ้น
6. มะเขือเทศ มีสารไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ที่จะช่วยลดการอักเสบของทางเดินหายใจในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและช่วยเรื่องการทำงานของปอดในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
7. ธัญพืชต่างๆ เต็มเมล็ด ที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อย เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง เป็นต้น เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงอุดมด้วยวิตามินอี ซีลีเนียมและกรดไขมันจำเป็น ซึ่งดีต่อสุขภาพปอด
8. น้ำมันมะกอก เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี เพราะมีสารโพลีฟีนอลและวิตามินอีที่ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
9. หอยนางรม อุดมด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพปอด ได้แก่ สังกะสี ซีลีเนียม วิตามินบีและทองแดง
10. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น สตรอว์เบอรี บลูเบอร์รี มีฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่เรียกว่าแอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยยับยั้งและชะลอกระบวนการ Oxidative Stress ที่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นการอักเสบของร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ
ทั้งนี้ เมื่อรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอาหารต่างๆ แล้วนั้น ในการนำมารับประทานในชีวิตประจำวัน ควรจะนำอาหารดังกล่าวมาเพิ่มในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยแนะนำว่า ควรรับประทานให้มี "ความหลากหลาย" ไม่ใช่การทานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นกรณีเฉพาะ
"การกินผักและผลไม้เป็นประจำให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม โดยแบ่งเป็นผักสุก 3 มื้อๆ ละ 2 ทัพพี ผลไม้ตามฤดูกาลวันละ 3-5 ส่วน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอด
เนื่องจากผักและผลไม้อุดมไปด้วยวิตามินและ แร่ธาตุต่างๆ สารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างภูมิต้านทานและเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้สามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ภาพจาก AFP
เปิดคำแนะนำผู้ป่วย หลังหายจาก "โรคโควิด-19" ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อปอดไม่มากก็น้อย บางรายส่งผลระยะยาว ซึ่งเมื่อเข้ารับการรักษาหายแล้วนั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ 3 ส่วน ได้แก่
1. อาหาร ควรรับประทานให้ครบ 5 หมู่ เน้นเพิ่มสัดส่วนของผักและผลไม้
2. พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อนจะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะการนอนหลับอย่างสนิท ฉะนั้น หากเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ หรือไม่ควรจะเกิน 4 ทุ่ม จะทำให้นอนหลับลึก และเมื่อหลับลึกหลังเที่ยงคืนจะมีฮอร์โมนหลายชนิดหลั่งออกมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
3. การออกกำลังกาย หลังจากผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 แล้วนั้น แนะนำให้เริ่มกิจกรรมทางกายตั้งแต่น้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ เพื่อเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ซึ่งโดยปกติหลังออกจากโรงพยาบาลแพทย์จะให้คำแนะนำ ซึ่งผู้ป่วยก็นำมาปฏิบัติตามคำแนะนำให้ถูกต้องและต่อเนื่อง
ภาพจาก AFP
คำแนะนำประชาชนทั่วไป ดูแลปอดให้แข็งแรง ต้องทำอย่างไร ?
สำหรับประชาชนทั่วไปในการดูแลสุขภาพของปอดนั้น จะประกอบไปด้วย 7 ข้อ ดังนี้
1. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพราะนอกจากจะป้องกันเชื้อโรคแล้วนั้น ยังช่วยป้องกันฝุ่นละอองที่อาจจะเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ
2. ไม่สูบบุหรี่ หรือเข้าใกล้แหล่งที่มีควันบุหรี่ ควันธูป หรือสถานที่ที่มีฝุ่นมาก เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการระคายเคือง
3. ฝึกหายใจลึกๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อรอบๆ ปอดนั้น ยืดขยาย และกระตุ้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้เลือดสูบฉีดมากขึ้น เพิ่มเติมออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย และทำให้ปอดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5. ดื่มน้ำเปล่าสะอาด ให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย
6. รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน โดยเฉพาะผักและผลไม้
7. กำจัดเชื้อโรค สาร หรืออนุภาคที่อาจส่งผลต่อปอด ด้วยการรักษาสุขอนามัย การทำความสะอาดพื้นผิว เพื่อลดหรือทำลายเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรค ดูแลทำความสะอาดของบ้านเพื่อลดฝุ่น เพราะการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปก็อาจทำให้เกิดอาการะคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ เมื่อติดเชื้อโรคก็ติดได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับคนปกติ
ภาพจาก AFP
เรื่องโดย ทีมข่าว TNN Online
ภาพปกโดย แฟ้มภาพ AFP