TNN เกิดอะไรขึ้นกับกองทุนตราสารหนี้ NAV จะไปต่อ หรือ รอก่อน

TNN

TNN Exclusive

เกิดอะไรขึ้นกับกองทุนตราสารหนี้ NAV จะไปต่อ หรือ รอก่อน

เกิดอะไรขึ้นกับกองทุนตราสารหนี้ NAV จะไปต่อ หรือ รอก่อน

นักลงทุนกุมขมับหลังกองทุนตราสารหนี้ทั้งใน-นอกประเทศขาดทุนหนัก หลังราคาปรับลงกันถ้วนหน้าทั้งตราสารหนี้ระยะยาว-ระยะสั้นมีสาเหตุเกิดจากอะไร TNN ONLINE พาไปไขคำตอบ

 

ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา  นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหลังราคาทยอยปรับตัวลงกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวหรือระยะสั้น  เกิดอะไรขึ้น? และสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่?  จะพาไปไขคำตอบในเรื่องนี้กันเลย

 


จากปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จึงต้องออกมาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Yield ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น Yield พันธบัตรสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้น


จากต้นปี 2022 ที่ 1.3% มาแตะใกล้ๆ 3.0% แล้ว ซึ่ง Yield ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างมาก   

 

จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ Yield ที่ปรับเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ก็ส่งผลกระทบไปยังตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Yield ในตลาดพันธบัตรไทยก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 


ล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี ที่ 1.0% มาอยู่ที่ประมาณ 3.0% ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ตามหลักการที่ว่า “Yield ปรับขึ้น ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลง”  ส่งผลให้ NAV หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ   ของกองทุนตราสารหนี้ทยอยปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา 

 

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบ ไม่ว่าจะเป็น Brent หรือ WTI ที่ปรับตัวขึ้นมากว่า 50% จากต้นปี และสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเพราะวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนยังหาทางออกไม่ได้ ส่งผลให้มูลค่าของสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้เกิด Cost-Push Inflation  คือต้นทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลต่ออัตราการทำกำไรในอนาคต 


การที่ตลาดพูดกันว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ GDP ปรับตัวลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส  ทำให้นักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเพิ่มขึ้น เพราะต้องการได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Credit Spread “ (ตัวอย่างเช่น  ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในหุ้นกู้ SCC  อายุ 3 ปี ก็จะสูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากพันธบัตรไทยอายุ 3 ปี) เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น 


โดยที่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Credit Spread นั้นไม่เพียงแต่ปรับตัวขึ้นแต่ในไทยเท่านั้น แต่เป็นการปรับขึ้นของ Credit Spread ทุกตลาดหลักของตราสารหนี้ทั่วโลก

 

เพราะฉะนั้น นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในปีนี้ จึงได้รับผลกระทบ ใน 2 ด้าน คือ 1. Interest rate risk หรือ ความเสี่ยงจาก yield ในตลาดที่ปรับตัวขึ้น และ  2. Credit risk หรือ ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ต้องการเพิ่มเพื่อชดเชยความเสี่ยงจึงกระทบต่อราคาตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็มีมุมมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตจะเป็นการเติบโตแบบ “Moderate Growth Moderate Inflation” ซึ่งหมายความว่า ไม่ถดถอย และคุมเงินเฟ้อได้  ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 


ดังนั้น   สิ่งที่นักลงทุนควรจับตามองคือ  FED จะสามารถควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จหรือไม่  หากสำเร็จเราก็ประเมินได้ว่า  Yield ของพันธ บัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้อาจจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและเริ่มทยอยปรับตัวลงได้ในอนาคต และความสนใจของนักลงทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้นหลังดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้เอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นหลัง Credit spread ถ่างขึ้น จะจูงใจให้หันกลับมาลงทุนในหุ้นกู้เอก ชนต่อ  NAV ของกองทุนตราสารหนี้ก็จะกลับมาฟื้นตัวได้ดีดังเดิม


ที่มา  KBank Private Banking  ธนาคารกสิกรไทย

ภาพ ดีพร้อม

ข่าวแนะนำ