TNN ทำไมราคาน้ำมันแพงไม่หยุด? ลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 เดือนเพียงพอไหม?

TNN

TNN Exclusive

ทำไมราคาน้ำมันแพงไม่หยุด? ลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 เดือนเพียงพอไหม?

ทำไมราคาน้ำมันแพงไม่หยุด? ลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 เดือนเพียงพอไหม?

เผย 3 สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับพุ่งขึ้นต่อเนื่องไม่หยุด ล่าสุด ครม. เคาะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เตรียมให้ "คลัง" ออกกฎกระทรวงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ราคาน้ำมัน ทยอยปรับขึ้นมาเรื่อยๆ และพุ่งสูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถ ทำให้ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบ ให้มีการ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลงลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาขายปลีกกลุ่ม น้ำมันดีเซล ลดลงลิตรละ 3 บาท จากปัจจุบันราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 29.94 บาท จะลดลงเหลืออยู่ที่ประมาณลิตรละ 27 บาท  ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้กระทรวงการคลัง จะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกันลิตรละ 3 บาทนี้ จะมีผลถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนทางกระทรวงพลังงานจะเร่งจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทให้ได้ถึง 31 พฤษภาคม 2565 ต่อไปเช่นกัน 


แล้ว ทำไมราคาน้ำมันแพง ? 

หลักๆเลยเกิดจาก 3 สาเหตุ โดยมาจากปัจจัยภายนอก นั่นก็คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้ประเทศซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอย่างประเทศไทยได้รับผลกระทบ ต้องใช้น้ำมันราคาแพงไปด้วย  ซึ่งเหตุที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยาน ก็ได้แก่ 

1. ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก

2. การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปก ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ได้ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ในปี 2020) ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน แต่ปัจจุบันกลุ่มโอเปกก็ทยอยผลิตเพิ่มครั้งละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกอยู่ดี

และ 3. สถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกสะดุด แต่ก็เริ่มฟื้นตัวในช่วงนี้ ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันสูงเกินกว่ากำลังการผลิต จึงทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นในรอบ 7 ปี

ทั้ง 3 ปัจจัยภายนอกดังกล่าว ส่งผลมายังประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันหลักได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแพงขึ้น ทำให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอย่างไทยได้รับผลกระทบไปด้วย 


ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุดทำอย่างไร?

ประเทศไทย มี คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีการใช้กองทุนน้ำมันเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยพยุงราคาไว้  โดยทำให้ราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการในประเทศไม่สูงมากกว่านี้ และก็ไม่ได้ถือว่ามีราคาแพงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน  สะท้อนได้จากข้อมูลราคาเฉลี่ยทั้งประเทศในกลุ่มเพื่อนบ้าน เรียงจากราคาสูงไปต่ำกว่า ดังนี้

ราคาน้ำมันดีเซล เฉลี่ยทั้งประเทศ

ประเทศราคาน้ำมันดีเซล (บาท/ลิตร)
สิงคโปร์
57.42
ลาว
34.42
ฟิลิปปินส์
33.19 
เมียนมา
32.12 
กัมพูชา
30.55 
อินโดนีเซีย
30.31
ไทย
29.91
เวียดนาม
28.64 
มาเลเซีย
16.80 
บรูไน
7.54

อ้างอิง: กบน.(ข้อมูล ณ 14 ก.พ.65 )


ส่วนราคา น้ำมันเบนซิน เฉลี่ยทั้งประเทศ เรียงจากราคาสูงไปต่ำกว่า คือ สิงคโปร์ (67.64 บาท/ลิตร) ลาว (44.24 บาท/ลิตร) ฟิลิปปินส์ (39.63 บาท/ลิตร) กัมพูชา (37.79 บาท/ลิตร) เวียดนาม (36.51 บาท/ลิตร) ไทย (35.55 บาท/ลิตร) เมียนมา (33.76 บาท/ลิตร) อินโดนีเซีย (30.95 บาท/ลิตร) มาเลเซีย (16.02 บาท/ลิตร) และบรูไน (12.89 บาท/ลิตร) (ข้อมูล ณ 14 ก.พ.65)

ราคาน้ำมันเบนซิน เฉลี่ยทั้งประเทศ

ประเทศ
ราคาน้ำมันเบนซิน (บาท/ลิตร)
สิงคโปร์ 
67.64 
ลาว 44.24 
ฟิลิปปินส์
39.63 
กัมพูชา 37.79 
เวียดนาม 36.51 
ไทย
35.55
 เมียนมา
33.76
อินโดนีเซีย
30.95
มาเลเซีย 16.02 
บรูไน 
12.89

อ้างอิง: กบน.(ข้อมูล ณ 14 ก.พ.65 )


ทั้งนี้จากการที่ ครม. อนุมัติให้ลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไปถึงเดือน พ.ค. 65 จะมีผลทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากเดิมจัดเก็บ 5.99 บาท/ลิตร ปรับลงเป็น 3.20 บาท/ลิตร หรือลดลง 2.79 บาท/ลิตร โดย กบน. มีมติลดภาระค่าน้ำมันดีเซลให้ประชาชน 2 บาท/ลิตร ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงมาจาก 29.94 บาท/ลิตร เหลือ 27.94 บาท/ลิตร และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร 


ด้านกรมสรรพสามิต โดยนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต  ระบุว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเป็นเวลา 3 เดือนน่าจะเพียงพอ ไม่ต้องมีการขยายเวลาเพิ่ม เนื่องจากระหว่างนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไปเร่งแก้ปัญหาเรื่องบัญชี ซึ่งจะทำให้สามารถกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุน จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ได้ในเดือน มี.ค.2565 และจะทำให้มีเงินมาอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงได้อย่างเพียงพอ


โดยในปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพสามิตมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 597,000 ล้านบาท แต่ได้ขอปรับเป้าการจัดเก็บรายได้ลงเหลือ 560,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย แม้จะสูญเสียรายได้จากการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท 3 เดือน คิดเป็นเงิน 17,000 ล้านบาทก็ตาม  และยืนยันด้วยว่า ในปีนี้จะไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เข้ามาทดแทนรายได้ที่สูญเสียไป และจะไม่มีการขึ้นอัตราภาษีอื่นๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และหากปี 2565 นี้ เป็นช่วงสุดท้ายของโควิด และไม่มีการล็อกดาวน์อีก เชื่อว่าแนวโน้มการจัดเก็บภาษีจะดีขึ้นแน่นอน 

ทำไมราคาน้ำมันแพงไม่หยุด? ลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 เดือนเพียงพอไหม? ภาพประกอบ: TNN Online


ที่มา : สกนช.,กบน. ,สรรพสามิต

ภาพประกอบ: AFP ,TNN Online 

ข่าวแนะนำ