นักวิจัยสอน "เซลล์สมอง" เล่นเกม Pong - พบว่าเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่า AI
เซลล์สมองที่เพาะเลี้ยงในจานทดลอง สามารถเรียนรู้ที่จะเล่นเกม Pong ได้รวดเร็วอย่างน่าเหลือเชื่อ
AI หรือปัญญาประดิษฐ์เปรียบเสมือนสมองดิจิทัลที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้พวกมันเรียนรู้และทำตามเป้าหมายตามคำสั่งที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ใบหน้า, การแปลภาษา หรือแม้กระทั่งฝึกให้ AI เล่นเกม แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากนักวิจัยเลือกใช้ "สมองจริง ๆ" มาแข่งขันกับ AI !!
การทดลองนี้เกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการของบริษัท Cortical labs นักวิจัยทำการเพาะเลี้ยงเซลล์สมองขึ้นมา แล้วนำเซลล์เหล่านั้นไปจัดเรียงลงใน Microelectronic array เพื่อให้นักวิจัยสามารถส่งกระแสไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์สมองได้ตลอดเวลา
แผง Microelectronic array ที่มีเซลล์สมองอยู่ภายใน ถูกเรียกว่า DishBrain เปรียบเสมือน "ชิปประมวลผลแบบไฮบริด" ที่สามารถเรียนรู้และทำตามคำสั่งได้คล้าย ๆ กับการสอน AI จากนั้นนักวิจัยจึงนำ DishBrain มากระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อให้เซลล์สมองสามารถทำงานได้ พร้อมสอนให้พวกมันรู้จักเล่นเกม Pong
เซลล์สมองที่ถูกกระตุ้นในระหว่างการเล่นเกม Pong จะคอยควบคุม Paddle หรือแถบกั้นสีขาว (ทำหน้าที่เสมือนไม้ปิงปอง) คอยกั้นไม่ให้ลูกบอลสีขาว (ลูกปิงปอง) ชนกับกรอบอีกด้านหนึ่ง ผลปรากฏว่าเซลล์สมองสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมแถบกั้นได้อย่างรวดเร็วภายใน 5 นาที ในขณะที่การฝึก AI ให้เรียนรู้ต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 90 นาที
อย่างไรก็ตาม เมื่อ AI สามารถเรียนรู้การเล่นเกม Pong เป็นที่เรียบร้อย ดูเหมือน AI จะสามารถควบคุมแผงกั้นลูกบอลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า DishBrain โดยเฉพาะหลังจากการเพิ่มความเร็วของลูกบอล AI สามารถควบคุมแผงกั้นได้ในระดับที่สูงกว่า DishBrain อย่างมีนัยสำคัญ
ถึงกระนั้น นักวิจัยจาก Cortical labs เรียก DishBrain ในอีกชื่อหนึ่งว่าสมองไซบอร์ก (Cyborg brain) พร้อมทั้งกล่าวว่านี่เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การพัฒนาสมองเทียมให้กับหุ่นยนต์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเพื่อนำไปใช้งานร่วมกับ AI ในอนาคตเราอาจจะมีหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างโลกดิจิทัลและโลกแห่งชีวภาพไว้ด้วยกันก็เป็นได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก PCGamer
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67