หุ่นยนต์มือตุ๊กแก! ช่วยจับวัตถุที่แข็งและบอบบางได้ในเครื่องเดียว
หุ่นยนต์มือจับนั้นมักจะถูกแยกเป็นประเภทที่ใช้จับวัตถุที่แข็งกับวัตถุที่เปราะบาง แต่ด้วยหุ่นยนต์มือตุ๊กแกนี้จะช่วยให้สามารถจับวัตถุที่แข็งและบอบบางได้ในเครื่องเดียว
หุ่นยนต์บนโลกนี้นั้นมีมากมายหลายรูปแบบ แต่ละประเภทก็ต่างออกแบบมาเพื่อใช้ในจุดประสงค์ที่ต่างกันออกไป หุ่นยนต์มือจับเองก็เป็นหุ่นยนต์อีกประเภทหนึ่งที่ใช้งานกันอยู่อย่างแพร่หลาย ซึ่งหุ่นยนต์มือจับก็มีทั้งแบบที่ใช้จับของที่มีความแข็งและใช้จับของที่มีลักษณะเปราะบาง แต่ด้วยหุ่นยนต์มือจับที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กแกนี้จะช่วยให้สามารถจับวัตถุที่แข็งและบอบบางได้ในเครื่องเดียว
หุ่นยนต์มือตุ๊กแกนี้มีชื่อว่า farmHand ถูกผลิตขึ้นโดยวิศวกร 3 คน ได้แก่ Wilson Ruotolo, Dane Brouwer และ Mark Cutkosky จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่ตัวหุ่นยนต์จะมีลักษณะเป็นอุ้งมือที่มีนิ้วมือ 4 นิ้ว คล้ายๆ กับลักษณะของมือและเท้าตุ๊กแกนั่นเอง
ที่มาของภาพ. newscientist
หากเราสังเกตที่เท้าของตุ๊กแกจะพบว่ามีลักษณะเหมือนเกล็ด ซึ่งเมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องก็จะเห็นว่าเกล็ดเหล่านี้นั้นจริงๆ แล้วก็คือเส้นขนเส้นเล็กๆ นับหลายล้านเส้นเกาะติดกันอยู่ ทำให้เมื่อเท้าของตุ๊กแกเกาะลงบนพื้นผิวก็จะทำให้เกิดแรงดึงของขนเส้นเล็ก ๆ จำนวนมหาศาลเหล่านี้ ช่วยให้ตุ๊กแกสามารถเกาะติดกับวัสดุหรือพื้นผิวได้นั่นเอง
วิศวกรที่ผลิตหุ่นยนต์ farmHand จึงได้เลือกที่จะใช้แผ่นยางที่ถูกออกแบบมาให้คล้ายกับเท้าของตุ๊กแก โดยอาศัยหลักการเดียวกัน ในการจับวัตถุต่างๆ ช่วยให้หุ่นยนต์สามารถจับวัตถุที่มีความบอบบางอย่างเช่น มะเขือเทศได้โดยที่ไม่ทำให้เละ และไม่ทิ้งคราบกาวไว้ที่วัตถุที่จับอีกด้วย
นอกจากวัตถุที่มีพื้นผิวเรียบแล้วนั้น หุ่นยนต์ farmHand ก็ยังสามารถใช้จับวัตถุที่มีลักษณะขรุขระได้อีกด้วย เนื่องจากหุ่นยนต์นั้นมีอุ้งมือที่สามารถงอได้ตามลักษณะพื้นผิว ทำให้เมื่อแผ่นยางภายในอุ้งมือสัมผัสกับวัตถุก็จะเกิดแรงเท่าๆ กันในทุกนิ้ว ช่วยลดโอกาสเกิดความเสียหายกับวัตถุและลดโอกาสที่วัตถุจะลื่นไถลออกจากอุ้งมือได้
ที่มาของภาพ researchgate
จากการทดสอบหุ่นยนต์ farmHand พบว่า หุ่นยนต์สามารถจับของที่มีความบอบบางได้สูง เช่น องุ่น หรือไข่ดิบ ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ช้ำและแตก อีกทั้งยังสามารถจับและยกวัตถุที่มีความหนัก อย่างเช่น ขวดน้ำขนาดใหญ่ หรือลูกบาสเก็ตบอลได้อย่างสบายๆ เลยอีกด้วย
ทั้งนี้วิศวกรผู้ผลิตหุ่นยนต์ farmHand ทั้งสามก็ยังมีแผนที่จะดูผลการทำงานของหุ่นยนต์ตัวนี้อีกสักพัก เพื่อดูว่าจะมีข้อเสียอื่นใดที่ต้องแก้ไขและปรับปรุง และจะสามารถพัฒนาความสามารถในส่วนอื่นเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67