ซีโนบอท หุ่นยนต์อัศจรรย์ สามารถ "สร้างพรรคพวก" ขึ้นมาใหม่ได้ !!
เมื่อหุ่นยนต์ที่สร้างจากเซลล์ของกบ สามารถสร้างตัวใหม่ขึ้นมาได้เองด้วยวิธีรวบรวมเซลล์รอบข้าง !!
นักวิทยาศาสตร์แระสบความสำเร็จในการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิต แต่สิ่งที่สร้างความน่าทึ่งให้กับการศึกษานี้อย่างมาก คือหุ่นยนต์เหลานี้สามารถ “สร้าง” หุ่นยนต์ตัวใหม่ได้จากเซลล์รอบตัว โดยมีชื่อว่า ซีโนบอท (Xenobot)
หุ่นยนต์นี้สร้างขึ้นจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเวอมอนต์สร้างหุ่นยนต์นี้ขึ้นจากสเต็มเซลล์ของกบ พร้อมเพิ่มจำนวนเซลล์ให้พวกมันรวมตัวกันจนเหมือนตัวแพคแมน (Pacman) จากวิดีโอเกม ซึ่งซีโนบอทสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยเส้นใยที่งอกออกมาจากเซลล์ แต่ก็มีหลายอย่างที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างหุ่นยนต์และสิ่งมีชีวิต จึงจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกปรับแต่ง (Programmable organism) ซึ่งการศึกษาที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญตอนนี้ คือการทำให้ซีโนบอทเพิ่มจำนวนตัวเองได้เลียนแบบเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
ปรากฏว่านักวิทยาศาสตร์สามารถทำได้สำเร็จ เมื่อซีโนบอทสามารถ “สร้าง” พรรคพวกเพิ่มขึ้นมาเองได้ โดยนักวิทยาศาสตร์จะปล่อยให้เหล่าซีโนบอทว่ายอยู่ในแอ่งที่เต็มไปด้วยสเต็มเซลล์ของกบ จากนั้นพวกมันจะค่อย ๆ รวบรวมเซลล์เหล่านี้ให้กลายเป็นก้อนขนาดเท่า ๆ กับตัวซีโนบอท ไม่นานก้อนเซลล์ที่ถูกรวบรวมจะเริ่มงอกเส้นใยและเคลื่อนไหวได้เหมือนซีโนบอทรุ่นแรก
แม้ซีโนบอทชุดใหม่ที่สร้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการแบ่งเซลล์จากซีโนบอทรุ่นแรก (ในขณะที่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะเพิ่มจำนวนโดยการแบ่งเซลล์ของตัวเองออกให้เกิดเป็นเซลล์ใหม่) แต่มันแสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการทดลอง อีกทั้งกระบวนการสร้างหุ่นยนต์ซีโนบอทชุดใหม่นี้ยังใช้เวลาไม่นาน เมื่อเทียบกับกระบวนการเกิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่กินระยะเวลานานเลยทีเดียว
ถึงกระนั้น สเต็มเซลล์ของกบที่วางอยู่ในแอ่งจะไม่สามารถรวมตัวกันเองได้ หากปราศจากซีโนบอทชุดแรกเข้ามารวบรวมและกระตุ้นให้เซลล์งอกเส้นใยเคลื่อนไหวขึ้นมา หมายความว่าในการสร้างจะต้องมีหุ่นยนต์ชุดเริ่มต้นเสียก่อนนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในอนาคตอาจจะสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ซีโนบอทนี้ เพื่อประยุกต์ใช้ในประโยชน์ด้านต่าง ๆ หรือในมุมมองของผู้เขียนคาดว่ามันอาจมีประโยชน์บางอย่างในด้านการแพทย์ เช่น การสร้างซีโนบอทที่สามารถรวบรวมและสร้างเซลล์ตับอ่อนชุดใหม่ที่หลั่งอินซูลินออกได้ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งหากทำได้จริงก็คงเป็นการพลิกโฉมวงการแพทย์อย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว
ขอขอบคุณจาก Science Alert
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67