ไขความลับ!! ยีนที่หายไปของค้างคาวแวมไพร์ ทำให้มันมีชีวิตอยู่ได้แม้จะดื่มเลือดตลอดชีวิต
หลายคนคงสงสัยว่าค้างคาวแวมไพร์ที่ดื่มกินเลือดของสัตว์เพียงอย่างเดียว ทำไมจึงดำรงชีวิตอยู่ได้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่ายีนที่หายไป 13 ชุดนั้นคือคำตอบ
มนุษย์เราคงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากต้องรับประทานอาหารเพียงชนิดเดียวไปตลอด ๆ แต่เหตุใดค้างคาวแวมไพร์ ซึ่งกินเลือดของสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหารจึงสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดอายุขัยด้วยเลือดเพียงอย่างเดียว นักวิทยาศาสตร์พร้อมไขความลับนี้ โดยอธิบายด้วยเรื่องของยีนที่หายไป
การศึกษาครั้งนี้เป็นการตรวจลำดับสารพันธุกรรมของค้างคาวแวมไพร์ (Desmodus rotundus) พร้อมเปรียบเทียบกับพันธุกรรมของค้างคาวชนิดอื่น ๆ อีก 25 สายพันธุ์ ผลปรากฏว่า ในพันธุกรรมของค้างคาวแวมไพร์มีความแตกต่างของยีนอยู่ 13 ชุด โดยยีนบางชุดขาดหายไปในขณะที่บางชุดมีการกลายพันธุ์จนโครงสร้างแตกต่างไปจากค้างคาวชนิดอื่น
แม้ยีนในสารพันธุกรรมเป็นกุญแจสำคัญ ในการสร้างโปรตีนที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต แต่ก็อาจก่อให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิตด้วยเช่นกัน ซึ่งในกรณีของค้างคาวแวมไพร์ยีนที่หายหรือกลายพันธุ์ไปทั้ง 13 ชุด อาจเป็นคำตอบที่ว่าเหตุใดพวกมันจึงมีชีวิตอยู่ได้แม้จะดื่มเลือดตลอดชีวิต
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาหน้าที่ของยีนบางชุดเพิ่มเติม พบว่ามียีนที่หายไป 2 ชุด เกี่ยวข้องกับการสร้างอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย หากปราศจากฮอร์โมนนี้จะทำให้น้ำตาลคงอยู่ในเลือดได้นานและมีปริมาณสูงขึ้น (ในคนคือโรคเบาหวานนั่นเอง) พ้องกับที่ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยตรวจพบว่าร่างกายของค้างคาวแวมไพร์มีอินซูลินหลั่งออกมาน้อยเมื่อเทียบกับค้างคาวชนิดอื่น ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่ว่าเลือดที่พวกมันดื่มจะมีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลต่ำ การมีอินซูลินต่ำจะช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้อย่างช้า ๆ และเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
นอกจากนี้ในค้างคาวแวมไพร์ยังขาดยีน REP15 ยีนที่ควบคุมการดูดซึมสารอาหารในทางเดินอาหารของค้างคาว เมื่อปราศจากยีนนี้จะส่งผลให้ธาตุเหล็กถูกดูดกลืนและนำไปกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าการที่ค้างคาวแวมไพร์ดื่มเลือดเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวจะได้รับธาตุเหล็กจากเลือดในปริมาณที่เยอะมาก ดังนั้น เมื่อขาดยีนนี้ร่างกายของค้างคาวแวมไพร์จะสามารถขับเหล็กส่วนเกินออกได้ดีกว่าด้วยนั่นเอง
ตอนนี้ยังมีอีกหลายชุดที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อค้นหายีนที่อาจเป็นคีย์หลักที่ช่วยให้ค้างคาวแวมไพร์สามารถดูดซึมสารอาหารที่ปนอยู่ในเลือดของสัตว์อื่นได้ดีขึ้น และหวังว่ามันอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างการดูดซึมสารอาหารในมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ประสบภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Live Science
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67