Meta ศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Facebook จะรอดไหม?
หลังจากที่บอกว่าจะรีแบรนด์ ในที่สุดก็ออกมาประกาศชื่อใหม่เสียที และชื่อนี้ยังบอกเราอีกด้วยว่า Facebook เอาจริงเรื่อง Metaverse ขนาดไหน แต่ท่ามกลางศึกรอบด้านขนาดนี้ โลกใหม่ของ Mark Zuckerberg จะรอดไหม
Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น 'Meta' ซึ่งมาจากคำว่า 'Metaverse' โลกเสมือนจริงที่ Facebook กำลังพัฒนาอยู่ในตอนนี้ โดยการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อบริษัทเท่านั้น แต่ชื่อผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น Facebook, Instagram จะยังใช้ชื่อเดิม
เหตุผลที่ออกมาเปลี่ยนชื่อ Mark Zuckerberg CEO ของบริษัท Meta กล่าวในไลฟ์สตรีมของบริษัทว่า ชื่อใหม่นี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของบริษัทว่าพวกเขาจะหันไปทุ่มเทกับการลงทุนใน metaverse มากกว่าบริการโซเชียลมีเดียอีกต่อไป หรืออย่างที่มีข่าวลือกันก่อนหน้านี้ว่าบริษัทกำลังจะเปลี่ยนจาก Social Media Company ไปเป็น Metaverse Company นั่นเอง
นอกจากนี้การที่บริษัทชื่อว่า Facebook ยังทำให้บริษัทดูเหมือนผูกติดอยู่กับแค่ Facebook อย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่บริษัท Facebook มีผลิตภัณฑ์ในเครือเยอะแยะ เช่น Facebook, Instagram, Whatsapp ดังนั้นในอนาคตถ้า Facebook จะโฟกัสเรื่องใหม่ ก็สมควรตั้งชื่อให้รองรับกับบริการใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย
สำหรับใครที่สงสัยว่า Metaverse (เมต้าเวิร์ส) คืออะไร ต้องขออธิบายก่อนว่าคอนเซ็ปต์ Metaverse ของ Meta เป็นเหมือนกับ “โลกเสมือนจริง” ที่ทุกคนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในโลกนั้นได้ โดยการเข้าสู่โลก Metaverse ก็จะต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมที่ทำก็เช่น ดูหนังฟังเพลง ขายของ ลองเสื้อ หรือจะเดินทางไปที่ไหน จะไปเจอใครก็ทำได้หมดไม่จำกัดสถานที่ แม้ตัวเราจริง ๆ จะนั่งอยู่ที่บ้านก็ตาม
โดยการเปิดประตูสู่โลก Metaverse สามารถเข้าได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ซึ่งแต่ละแบบก็จะได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- เข้าผ่านแว่น VR (Virtual Reality) วิธีนี้ เราจะได้รับประสบการณ์แบบเต็มรูปแบบเป็น Fully Immerse
- หรือ จะเลือกแบบผสมผสาน คือ ใส่แว่น และ ใช้งานแบบ AR (Augmented Reality) ด้วยวิธีนี้เราจะได้รับประสบการณ์ระดับกลาง
- และการเข้าใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ก็ได้ แต่ด้วยวิธีนี้จะไม่ฟินเท่ารูปแบบที่กล่าวมาก่อนหน้านี้
ส่วนแนวคิดของ “Meta” ที่นำเสนอออกมาก็คือ “Connection is evolving and so are we” หรือ การเชื่อมต่อกันกำลังพัฒนาและพวกเราก็เช่นกัน ดังนั้น บริษัทจึงเลือกพัฒนาตัวเองและไปโฟกัสที่การสร้างประสบการณ์เสมือนจริงรูปแบบใหม่ เพราะคำว่า Facebook ไม่ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ของบริษัทอีกต่อไป และเป็นแค่ชื่อของ social media เพียงแค่แพลตฟอร์มเดียว
ส่วนชื่อผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น Facebook, Instagram , WhatsApp จะยังคงเป็นชื่อเดิม ขณะที่สัญลักษณ์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะเปลี่ยนเป็น "MVRS" ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป
ซึ่ง Facebook เองรวมถึงนักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าต่อไป Metaverse นี่แหละที่จะเข้ามาแทนที่อินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และจะกลายมาเป็นธุรกิจหลักของ Facebook ต่อไปด้วย Facebook ถึงได้เอาจริงเอาจังกับการสร้าง Metaverse อย่างเต็มที่ ทั้งทุ่มเงินลงทุน ทั้งทุ่มกำลังจ้างงาน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ออกมาประกาศจ้างแรงงานชั้นดีของยุโรปเพิ่มอีก 10,000 ตำแหน่ง ก็เพื่อมาช่วยสร้าง Metaverse นี่แหละ
แต่หนทางจะไปสู่ Metaverse ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะในทางเทคนิคแล้ว Facebook เองยังคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลากว่า 10-15 ปีกว่าที่ Metaverse จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ แถมตอนนี้บริษัทยังต้องเจออุปสรรคจากข่าวฉาวที่นับวันยิ่งผุดออกมาเรื่อย ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ นักวิจารณ์บางคนบอกว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้อาจเป็นความพยายามของ Facebook ในการ "เบี่ยงประเด็น" เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางมรสุมจากข่าวฉาวที่ทางบริษัทต้องเผชิญอย่างหนัก และนับวัน ก็ยิ่งผุดออกมาเรื่อย ๆ
อย่างที่โดนไปล่าสุดก็คือการที่ Frances Haugen (ฟรานเซส เฮาเกน) อดีตพนักงานของ Facebook ออกมาแฉบริษัท ด้วยการรวบรวมวิจัยและเอกสารภายในที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่ได้ใส่ใจต่อตัวผู้ใช้งานมากเท่ากับการคำนึงเรื่องผลกำไร รวมถึงข้อมูลปัญหาภายในเรื่องอื่น ๆ ส่งให้กับ Wall Street Journals สื่อดังระดับโลกเอาไปเผยแพร่ จน Facebook ต้องโดนไต่สวนจากสภาคองเกรซกันจนถึงตอนนี้
และการออกมาแฉครั้งนี้เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียเจ้านี้จริง ๆ เพราะหลังจากนั้นไม่นานบริษัทก็โดนขุดเรื่องฉาวภายในออกมารัว ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหละหลวมในการควบคุมข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ไปจนถึงผลการวิจัยภายในที่ชี้ว่า Instagram ส่งผลเสียกับสุขภาพจิตของวัยรุ่นหญิง
แถมข่าวฉาวที่ทยอยออกมา ก็ดันเป็นช่วงเดียวกับที่ Facebook กำลังวางแผนระยะยาวในการรีแบรนด์ของตัวเองไปสู่การสร้าง Metaverse อีกด้วย ดังนั้นมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังพัดกระหน่ำครั้งนี้ อาจจะทำให้ Facebook (Meta) ไปไม่ถึง Metaverse อย่างที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า?
ส่วนเพื่อนร่วมวงการเจ้าอื่น ๆ เช่น TikTok และ Snapchat ก็โดนสอบสวนด้วยเหมือนกัน ร้อนถึงตัวแทนของบริษัทต้องออกมาบอกว่าจะไม่ทำซ้ำรอย Facebook และยินดีเปิดเผยข้อมูลภายในอย่างโปร่งใสให้สภาคองเกรซได้ตรวจสอบด้วย
ส่วนเหตุผลว่าทำไม Facebook ดูจะโดนจับตามองมากที่สุด สื่อหลายสำนักคาดว่าเป็นเพราะอิทธิพลของ Facebook เองที่นับวันก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดย Facebook Report เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาสสามของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 29,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 963,960 ล้านบาท และมียอดผู้ใช้งานรายเดือนที่ยังแอคทีฟอยู่ประมาณ 2,910 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะโดนเพ่งเล็งจากรัฐฯ มากกว่าโซเชียลมีเดียเจ้าอื่น ๆ
แน่นอนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ Facebook ต้องหาทางแก้ต่อไป แต่หมากพิฆาตตัวต่อไปที่ Mark Zuckerberg เลือกเดิน ก็คือ การเดินหน้า ทรานส์ฟอร์มตัวเองด้วยการเปลี่ยนจากการเป็นแค่ Social Media Company ซึ่งปัจจุบันมีคู่แข่งเกิดใหม่มากมาย ไปเป็น Metaverse Company หรือ Metaverse-First ไม่ใช่ Facebook-First อย่างจริงจัง
นอกจากหมากพิฆาตตัวนี้ กลยุทธแก้แกมของ Facebook ยังมุ่งไปสู่การปรับโฟกัสกลุ่มเป้าหมายใหม่ เอาใจวัยรุ่นมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้ คือกำลังสำคัญที่จะช่วยดัน Metaverse ให้เติบโตได้ นอกจากนี้ ยังช่วยทางบริษัท แก้ปัญหากลุ่มผู้ใช้งานวัยหนุ่มสาวที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ บนแพลตฟอร์ม จนทำให้ Facebook ถูกมองว่าเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ สว. หรือ สูงวัย อีกด้วย
ที่น่าสนใจ คือ เพื่อขยายขอบเขตของการติดต่อสื่อสารในโลกปัจจุบันผ่านโลก Meta ทางบริษัทยังประกาศ Action หรือสิ่งที่ Meta จะรับผิดชอบทั้งหมด 4 หัวข้อ ซึ่งแต่ละหัวข้อที่กำหนดมาล้วนแล้วแต่เป็นดราม่าที่ Facebook กำลังเผชิญ ได้แก่
Promoting Safety and Expression
Protecting Privacy and Security
Preparing for Elections
Responding to COVID-19
หลายคนเลยมองว่า การออกมารีแบรนด์เป็น Meta เหมือนกับพยายามที่จะชดเชยความผิดพลาด ด้วยการสัญญาว่าจะไม่ทำผิดซ้ำในประเด็นเดิม
อย่างไรก็ต้องยอมรับว่า Metaverse ของมาร์กนับว่าเป็นไอเดียที่เจ๋งมาก เพราะจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของ Facebook และชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็น่าคิดว่ามนุษย์ในโลก Meta ของมาร์ก ที่สามารถเลือกในสิ่งที่อยากเห็น อยากทำ อยากเป็น ได้ทั้งหมดในโลกเสมือนจริง จะทำให้ Metaverse กลายเป็นกับดักที่ทำให้มนุษย์หลงอยู่กับความสวยงามและติดอยู่ในโลกนั้นแทนโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
ขอบคุณภาพจาก
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67