Airlander 10 เรือเหาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมเปิดให้บริการในปี 2025
Airlander 10 เรือเหาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมเปิดให้บริการในปี 2025
Airlander 10 เรือเหาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเตรียมเปิดให้บริการในปี 2025 การเดินทางรูปแบบใหม่ที่นุ่มนวลและปล่อยมลพิษเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพียง 10% เมื่อเทียบกับการปล่อยมลพิษจากเครื่องบินโดยสารที่ใช้น้ำมันปกติ ผู้โดยสารบนเรือเหาะสามารถพักผ่อนด้วยความเงียบและนุ่มนวลแตกต่างจากเครื่องบินโดยสารที่มีเสียงรบกวนจากการทำงานของเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังสามารถชมวิวที่สวยงามผ่านหน้าต่างที่ได้รับการออกแบบพิเศษช่วยให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามแบบพาโนรามา
เรือเหาะ Airlander 10 มีชื่อเดิมว่า HAV 304 พัฒนาโดยบริษัท Northrop Grumman ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อจุดประสงค์ทางการทหารทดสอบบินครั้งแรกในปี 2012 ภายใต้ชื่อโครงการ Long Endurance Multi-intelligence Vehicle (LEMV) อย่างไรก็ตามกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยหากนำมาใช้งานทางทหาร ปัจจุบันเรือเหาะถูกปรับปรุงเพิ่มเติมโดยบริษัท Hybrid Air Vehicles (HAV) ประเทศอังกฤษเพื่อนำมาใช้งานในรูปแบบการขนส่งเชิงพาณิชย์
การออกแบบเรือเหาะ Airlander 10 ใช้การออกแบบโครงสร้างน้ำหนักเบาและใช้หลักอากาศพลศาสตร์ช่วยในการยกตัวของเรือเหาะขึ้นสู่อากาศร่วมกับการใช้ก๊าซฮีเลียมที่เบากว่าอากาศ เรือเหาะมีความยาว 92 เมตร วงปีกกว้าง 43.5 เมตร รองรับสิ่งของและผู้โดยน้ำหนักรวม 10 ตัน บินทำความเร็วสูงสุด 148 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดาบินสูงสุดประมาณ 6.1 กิโลเมตร บินต่อเนื่องได้นานสุด 5 วัน พร้อมนักบินและผู้โดยสารโดยไม่ต้องลงจอด
ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล 325 แรงม้า ใบพัด 2 ชุดด้านข้างซ้ายขวาและใบพัดอีก 2 ชุดด้านหลังส่วนท้ายของเรือเหาะใบพัดแต่ละชุดสามารถหมุนเปลี่ยนทิศทางได้ 20 องศาเพื่อการยกตัวและเลี้ยวเปลี่ยนทิศทางของเรือเหาะพร้อมกับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบต่าง ๆ ของเรือเหาะ ระบบการควบคุมเรือเหาะสามารถบินแบบอัตโนมัติควบคุมระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียมหรือใช้การบินโดยนักบินที่เป็นมนุษย์
เทคโนโลยีเรือเหาะถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 17-18 เคยถูกใช้งานในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป เรือเหาะที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น Hindenburg อย่างไรก็ตามเรือเหาะค่อย ๆ ลดความนิยมลงไปเนื่องจากการมาถึงของเทคโนโลยีเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ ปัจจุบันแม้ยังมีการใช้งานเรือเหาะอยู่แต่เป็นจุดประสงค์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนท้องฟ้าและการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ การกลับมาเปิดให้บริการของเรือเหาะ Airlander 10 อาจเป็นสร้างประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่ที่หายไปจากท้องฟ้ามานับศตวรรษให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักท่องเที่ยวและผู้รักการเดินทางบนท้องฟ้า
แหล่งที่มา designboom.com , hybridairvehicles.com , army-technology.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67