เทคโนโลยีเลเซอร์ ยิงข้อมูลขนาด 700TB ข้ามแม่น้ำคองโก !!
Project Taara ยิงเลเซอร์เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตข้ามแม่น้ำคองโก
Project Taara เป็นโปรเจคที่เกิดขึ้นจากเศษซากของโปรเจค Loon โปรเจคกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านทางบอลลูนฮีเลียม แต่หลังจากที่พบว่าบอลลูนดังกล่าวใช้ต้นทุนที่สูงมาก ทาง Alphabet บริษัทแม่ของ Google ก็ได้ล้มโปรเจคลงในทันที อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของโปรเจค Project Taara จะยังคงเหมือนกับ Loon นั่นคือการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่น่าเชื่อถือและราคาไม่แพงไปทั่วทุกพื้นที่ โดยหยิบเทคโนโลยีเลเซอร์จากโปรเจค Loon มาพัฒนาต่อ
Project Taara ใช้ระบบเลเซอร์ที่มีชื่อว่า Free Space Optical Communications (FSOC) เป็นระบบที่ใช้เลเซอร์ในการสื่อสารระหว่างจุดสองจุดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยล่าสุดได้ทดลองยิงเลเซอร์ข้ามแม่น้ำคองโก เพื่อให้ทั้ง 2 ภูมิภาคระหว่าง Brazzaville และ Kinshasa สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกัน เพราะแม้ทั้ง 2 ภูมิภาคจะอยู่ห่างกันเพียง 3 ไมล์ (4.8 กม.) แต่ทั้ง 2 ภูมิภาคมีค่าอินเทอร์เน็ตแตกต่างกันมากถึง 5 เท่า เกิดจากแม่น้ำคองโกที่ตัดผ่านทั้ง 2 ภูมิภาค เป็นแม่น้ำที่มีความลึกมากที่สุด ทำให้ต้องวางสายไฟเบอร์ออปติกยาวมากถึง 248 ไมล์ (400 กม.) ด้วยกัน
ด้วยระบบ FSOC ทำให้ทางทีมงานสามารถส่งข้อมูลขนาด 700 TB ระหว่าง 2 ภูมิภาคได้ภายใน 20 วัน โดยมีความพร้อมสำหรับใช้งานมากถึง 99.9% ซึ่งจากการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตทั้งแบบ FSOC และแบบไฟเบอร์ออปติก พบว่าทั้ง 2 รูปแบบมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ตัวเลเซอร์ของ Project Taara จะควบคุมทิศทางผ่านทางการตรวจจับบรรยากาศ ควบคุมทิศทางของกระจก สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวได้ ตัวเลเซอร์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีความกว้างประมาณตะเกียบ และใช้ตัวรับเลเซอร์ที่มีขนาดเพียง 2 นิ้ว หรือประมาณ 5 เซนติเมตรเท่านั้น
ปัญหาของเลเซอร์ FSOC นี้ คือเรื่องของสภาพอากาศ รวมไปจนถึงสัตว์ป่าที่อาจทำให้สัญญาณถูกตัดขาดได้หรือหยุดชะงักได้ อย่างไรก็ตาม ทีมงานมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกได้ โดยก่อนหน้านี้ทางทีมงานได้มีการนำร่องระบบดังกล่าวไปยังเคนยาและอินเดียมาก่อนหน้าแล้ว
แหล่งที่มา x.company
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67