NASA ทุ่ม 5,800 ล้านบาทให้ SpaceX สำรวจดวงจันทร์น้ำแข็ง Europa
5,861,184,000 บาทคือราคาที่ NASA ทุ่มเทให้ SpaceX โดยหวังว่าเราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตบนดวงจันทร์น้ำแข็งนี้ให้มากขึ้น
ใครที่ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศและดวงดาวต่าง ๆ โดยเฉพาะดาวพฤหัสบดี ต้องลุ้นกับข่าวนี้แน่นอน เพราะล่าสุดมีข่าวความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา (NASA) ที่ได้ทุ่มทุนงบประมาณไปกว่า 5,861,184,000 ล้านบาทให้กับบริษัทเอกชนชื่อดัง SpaceX เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์น้ำแข็ง Europa (ยูโรปา) บริวารของดาวพฤหัสบดีว่ามีสภาวะที่เหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตหรือไม่
โดยภารกิจนี้ ยานอวกาศชื่อว่า “Europa Clipper” จะออกเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์น้ำแข็งบริวารของดาวพฤหัสบดี ด้วยจรวด Falcon Heavy ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เพื่อเก็บข้อมูลว่าบนดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวพฤหัสบดี จะมีสภาวะที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตหรือไม่ โดยโครงการนี้จะออกเดินทางจากศูนย์อวกาศเคนเนดี ( Kennedy Space Center) ของนาซ่าในฟลอริดาด้วยจรวด Falcon Heavy ในเดือนตุลาคม 2024 นี้
ภารกิจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลมาสร้างภาพจำลองพื้นผิวที่มีความละเอียดสูงของยูโรปา ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่เกือบ 90% เมื่อเทียบกับดวงจันทร์ของโลก โดยจะมีการศึกษาทางธรณีวิทยาของยูโรปาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่การวัดความหนาของเปลือกน้ำแข็งของมัน การค้นหาทะเลสาบใต้พื้นผิว และการวัดความลึกและความเค็มของมหาสมุทร โดย NASA กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างแน่ใจว่าน่าจะมีมหาสมุทรอยู่ใต้เปลือกน้ำแข็งของยูโรปา ซึ่งอาจจะมีส่วนประกอบบางอย่างที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้
สำหรับดวงจันทร์บริวาร Europa นั้นถูกค้นพบในช่วงปี 1962 โดยนักดาราศาสตร์ชื่อดัง "กาลิเลโอ" ซึ่งเขาเป็นผู้ค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีเป็นคนแรกผ่านกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน ต่อมาได้มีการศึกษาและสังเกตเพิ่มเติมจนพบหลักฐานที่ชัดเจนว่ามันมีมหาสมุทรน้ำเค็มอยู่ใต้ผิว ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเป็นสองเท่าของมหาสมุทรโลกรวมกัน โดยยูโรปามีองค์ประกอบพื้นผิวของส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง และ NASA เชื่อว่าเปลือกน้ำแข็งของยูโรปามีความหนาประมาณ 10 ถึง 15 ไมล์ (16-24 กิโลเมตรโดยประมาณ) และมหาสมุทรภายในมีความลึกประมาณ 40 ถึง 100 ไมล์ (22-160 กิโลเมตรโดยประมาณ)
ซึ่งสิ่งที่ทำให้การสำรวจยูโรปาน่าสนใจนั่นก็เป็นเพราะว่า มันมีโอกาสเป็นไปได้ที่อาจจะมีองค์ประกอบสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอยู่บนนั้น โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าองค์ประกอบทางเคมีที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถัน มีแนวโน้มว่าจะมีอยู่ในยูโรปาเมื่อแรกก่อตัว ดังนั้นพวกเขาจึงคาดการณ์ว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนยูโรปาน่าจะได้รับพลังงานจากปฏิกิริยาเคมีเหล่านี้มากกว่าการสังเคราะห์ด้วยแสง และถึงแม้ว่าการแผ่รังสีจากดาวพฤหัสบดีจะทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่รอดได้บนพื้นผิวของดวงจันทร์ แต่มันอาจจะช่วยเติมพลังให้กับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในมหาสมุทร ด้วยการแยกโมเลกุลของน้ำออกจากกัน และปล่อยออกซิเจนที่มีปฏิกิริยารุนแรง เพื่อทำปฏิกิริยาเคมีที่สามารถปล่อยพลังงานให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ใช้ดำรงชีวิตได้
ที่สำคัญข้อมูลจาก Jet Propulsion Laboratory หรือห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น แล็บสำคัญของทาง NASA ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การทำความเข้าใจความสามารถในการอยู่อาศัยของยูโรปา อาจจะช่วยให้นักชีวดาราศาสตร์เข้าใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาของสิ่งมีชีวิตบนดาวต่าง ๆ นอกเหนือจากโลก ไม่แน่ว่าการค้นพบครั้งนี้อาจจะทำให้มุมมองของเราที่มีต่อโลกและอวกาศเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกันกับครั้งที่มีการพิสูจน์ว่าโลกนี้ไม่ได้แบนก็เป็นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67