Google เตรียมรองรับพาสปอร์ตวัคซีนโควิด-19 บน Android
ต่อไปใครฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีหลักฐาน เพราะ Google จะช่วยคุณเก็บเอง!
ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เรื่องของการฉีดวัคซีนถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ล่าสุด Google เองก็ได้ออกมาอัปเดตว่าต่อไปนี้ Android จะสามารถจัดเก็บและแสดงหลักฐานของการฉีดวัคซีน Covid-19 ได้แล้ว
Google ได้ยืนยันว่าการอัปเดต Passes API จะทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข และองค์กรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตสามารถสร้างบันทึกของการฉีดวัคซีนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งสามารถเก็บไว้ในสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ได้ โดยบริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวฟีเจอร์นี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาในขั้นต้น ก่อนที่จะนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ ซึ่งยังไม่ได้มีรายละเอียดว่าจะเป็นประเทศใดบ้างโดยบันทึกเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์ของผู้ใช้ และฟีเจอร์นี้จะสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ Android เวอร์ชันเก่าที่สุดคือ 5.0 Lollipop อย่างไรก็ตามตัวฟีเจอร์นี้จะไม่ต้องใช้แอปพลิเคชัน Google Pay มาประกอบแต่อย่างใด ซึ่งแต่เดิมแอปพลิเคชันนี้มักใช้สำหรับแสดงตั๋วและบอร์ดดิ้งพาสต่าง ๆ อยู่แล้ว
กลับมาทางฝั่ง Apple เอง ขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์สำหรับ iOS แม้ว่าทางฝั่งนี้อาจจะไม่ได้มีปัญหามากนัก เนื่องจากมีแอปพลิเคชันอีกมากมายจากบุคคลที่สามที่ให้บริการ “พาสปอร์ตวัคซีน” อย่างเช่นสหราชอาณาจักรเองก็มีบริการแอปพลิเคชัน “National Health Service app” จากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้เพื่อการแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนเช่นกัน
ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะไม่ค่อยพอใจนักกับความคิดที่ว่าจะต้องเก็บและแสดงพาสปอร์ตวัคซีนนี้ต่อสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามันกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว อย่างเช่นที่รัฐบาลไอร์แลนด์กำลังพิจารณากำหนดให้ต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีน ในการนั่งที่ผับหรือร้านอาหาร ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่จะได้รับวัคซีน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินต่างก็จับตามองพาสปอร์ตวัคซีนอยู่เช่นกัน เพื่อเป็นแนวทางในการเริ่มต้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและการเดินทางเพื่อธุรกิจต่าง ๆ
นอกจากนั้นข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือความจริงที่ว่าระบบดิจิทัลตัวนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงของการโกงอีกด้วย โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมใบรับรองการฉีดวัคซีนปลอมได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการสร้างระบบที่บันทึกด้วยตัวมันเอง และถูกจัดเก็บด้วยระบดิจิทัลก็อาจจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67