ธนาคารโลกปฏิเสธช่วยเหลือเอลซัลวาดอร์ เพื่อนำ Bitcoin มาใช้เป็นเงินสกุลหลัก
แม้เอลซัลวาดอร์ตั้งเป้าที่จะนำ Bitcoin มาใช้ภายใน 3 เดือน แต่ยังติดปัญด้านเทคนิค ทว่า ธนาคารโลกได้ปฏิเสธการเข้าช่วยเหลือนี้
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เอลซัลวาดอร์ เป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศใช้ บิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัล เป็นสกุลเงินหลักของประเทศร่วมกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดูเหมือนธนาคารโลกจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้สักเท่าไร
ด้วยความที่เงินสกุลดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นตามหลักของ Decentralization ไม่ยึดติดกับระบบธนาคารใด ๆ ทำให้ค่าเงินจะเปลี่ยนไปตามกลไกตลาดและไม่ขึ้นกับการควบคุมของรัฐใดรัฐหนึ่ง ในขณะที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะอิงกลไกที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลของเอลซัลวาดอร์จึงประสงค์ที่จะนำบิตคอยน์มาใช้เป็นเงินสกุลหลักร่วม เพราะอย่างน้อยมันก็ไม่ขึ้นตรงกับประเทศใดประเทศหนึ่งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ตั้งใจเปลี่ยนระบบการเงินในประเทศให้รองรับการใช้จ่ายบิตคอยน์ภายใน 3 เดือน โดยภาครัฐและเอกชนจะต้องรองรับการชำระเงินบิตคอยน์ และสามารถแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์ได้อย่างอิสระ ทว่า เมื่อรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ติดต่อขอความช่วยเหลือด้านเทคนิค (เช่น การออกแบบระบบการโอนเงิน, ตู้ ATM ที่รองรับการถอนเงินบิตคอยน์ เป็นต้น) ไปยังธนาคารโลก กลับถูกปฏิเสธการเข้าช่วยเหลือนี้
ธนาคารโลกกล่าวว่า ธนาคารโลกไม่อาจเข้าช่วยเหลือตามคำร้องขอของประเทศเอลซัลวาดอร์ได้ เนื่องจากบิตคอยน์ขัดต่อข้อปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสในการตรวจสอบ
ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย โดยเฉพาะข้อปฏิบัติของธนาคารโลก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารโลกเองต้องการลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งดูแล้วขัดต่อข้อปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเรื่องของความโปร่งใสของบิตคอยน์ ซึ่งแท้จริงเหรียญดิจิทัลนั้นขึ้นชื่อเรื่องความโปร่งใส ในแง่ของการบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นั่นเอง
นอกจากนี้ เอลซัลวาดอร์ยังได้ขอความช่วยเหลือไปยังกองทุนเงินระหว่างประเทศ (IMF) แม้จะไม่ได้ให้ความเห็นในเชิงต่อต้าน แต่ IMF แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาค การเงิน และกฎหมาย หากเอลซัลวาดอร์นำบิตคอยน์มาใช้เป็นเงินสกุลหลัก
ประเด็นยังคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะธนาคารโลกเองยังปฏิเสธเสียงแข็ง ในขณะที่ IMF ก็ไม่ได้ตบปากรับคำเข้าช่วยเหลือแต่อย่างใด ซึ่งหากยังไม่มีองค์กรใดเข้ามาช่วยเหลือด้านเทคนิคให้กับเอลซัลวาดอร์ ก็อาจจะกระทบต่อแผนการเปลี่ยนไปใช้เงินสกุลบิตคอยน์ภายใน 3 เดือนตามที่ตั้งเป้าไว้อย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Techspot
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67