บันทึกสถิติโลก "ดวงอาทิตย์เทียม" จากประเทศจีนเข้าใกล้ความสำเร็จ
ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวส์ชันของดวงอาทิตย์เทียมนี้ สร้างความร้อนได้สูงพอ ๆ กับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ของจริง
ย้อนกลับไปเมื่อเดืออนธันวาคมปี 2019 ขณะนั้นประเทศจีนได้ประกาศแผนการสร้าง "ดวงอาทิตย์เทียม" (Artificial Sun) หรือที่เรียกว่า Experimental Advanced Superconducting Tokamak (EAST) เพื่อจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวส์ชัน (Nuclear Fusion) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ของจริง และจะเริ่มทำการทดลองหลังสร้างเสร็จในปี 2020
จากนั้นในปลายปี 2020 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ "เอชแอล-ทู เอ็ม โทคาแมค” (HL-2M Tokamak) ได้ถูกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ถือว่าเป็นความสำเร็จในการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวส์ชัน ที่เป็นพลังงานสะอาดและให้พลังงานมากกว่าการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) ที่นิยมใช้ในโรงผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง
อนึ่ง ปฏิกิริยาฟิชชันสร้างขึ้นด้วยการยิงอนุภาคนิวตรอนใส่อะตอมของธาตุที่มีมวลสูง ทำให้อะตอมของธาตุนั้นไม่เสถียรและแตกออกเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่จนปล่อยพลังงานออกมา ในขณะที่ปฏิกิริยาฟิวส์ชันเกิดจากการรวมตัวของธาตุน้ำหนักเบาจนเกิดเป็นธาตุที่หนักขึ้น ซึ่งจะปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาล ที่เห็นได้ชัดคือปฏิกิริยาฟิวส์ชันบนดวงอาทิตย์ ที่เกิดการรวมตัวกันของอะตอมไฮโดรเจนจนเกิดเป็นอะตอมฮีเลียม
สำหรับกรณีของดวงอาทิตย์เทียมในประเทศจีน ขณะนี้ได้ถูกบันทึกไว้เป็นสถิติโลกว่า พลาสมาของมันมีความร้อนสูงถึง 120 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลา 101 วินาที และ 160 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 วินาที ซึ่งความร้อนและเวลาที่ทำได้ในรอบนี้ได้ทำลายสถิติของรอบก่อนที่เคยทำได้ อยู่ที่ 100 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลา 100 วินาที และในขั้นตอนต่อไปของการทดลอง คือการควบคุมให้อุณหภูมิของดวงอาทิตย์เทียมมีความเสถียรมากขึ้น เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างพลังงานไว้ใช้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของโครงการวิจัยนี้กล่าวว่า ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปีที่เทคโนโลยีนี้จะนำมาใช้งานได้จริง หากสำเร็จ "ดวงอาทิตย์เทียม" จะกลายเป็นคำตอบของการสร้างพลังงานสะอาดและมีราคาถูกของโลกอนาคตอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67