TNN อิสราเอลเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหนู ใน "มดลูกเทียม" เป็นครั้งแรกของโลก

TNN

Tech

อิสราเอลเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหนู ใน "มดลูกเทียม" เป็นครั้งแรกของโลก

อิสราเอลเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหนู ใน มดลูกเทียม เป็นครั้งแรกของโลก

เมื่อมนุษย์ต้องการเข้าใจการเจริญเติบโตของสัตว์ในครรภ์ จึงได้ทดลองเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในมดลูกเทียมได้ครั้งแรกของโลก

การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนโดยไม่ต้องผ่านการตั้งครรภ์ภายในร่างกาย ยังเป็นความฝันที่นักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คนอยากทำให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งล่าสุดสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมน (Weizmann Institute of Science) ในอิสราเอล สามารถเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของหนูในมดลูกเทียมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก


นักวิทยาศาสตร์จากอิสราเอลเผยว่า พวกเขาได้ทำการทดลองย้ายตัวอ่อนหนูที่มีอายุได้เพียง 5 วัน ออกจากครรภ์มารดามาเพาะเลี้ยงในอุปกรณ์เทียม ซึ่งเรียกว่า "มดลูกเทียม" (มดลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมรวมถึงในมนุษย์ เป็นอวัยวะที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวแล้วเจริญเป็นครรภ์นั่นเอง) และตัวอ่อนเจริญเติบโตได้ต่อไปอีกเป็นเวลา 11 วัน


นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาประดิษฐ์มดลูกเทียมนี้ยาวนานถึง 7 ปี ภายในประกอบด้วย 2 ระบบ ได้แก่ ระบบเพาะเลี้ยงตัวอ่อน และระบบหมุนเวียนอากาศ ในระบบเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะถูกนำมาใส่ไว้ในของเหลวที่ประกอบด้วยสารอาหารชนิดพิเศษ ส่วนระบบหมุนเวียนอากาศจะคอยปั๊มป์ออกซิเจนให้กับตัวอ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้มดลูกเทียมจะค่อย ๆ หมุนไปเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนติดกับผนังเครื่องนั่นเอง


ปกติแล้วตัวอ่อนของหนูจะใช้เวลาอยู่ในครรภ์นาน 20 วันก่อนจะฟักออกมาเป็นตัว อย่างไรก็ตามในการทดลองนี้สามารถเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในมดลูกเทียมได้นาน 11 วันก่อนที่จะตายไป ซึ่งเชื่อวาน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ตัวอ่อนเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น ความต้องการอาหารและออกซิเจนจึงเพิ่มมากขึ้น และโดยปกติแล้วร่างกายของตัวอ่อนเหล่านี้ควรจะได้รับสารอาหารและออกซิเจนผ่านระบบไหลเวียนโลหิตต่างหาก


เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าจุดอ่อนสำคัญของเทคโนโลยีนี้ คือการรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนที่มีขนาดเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หากสามารถทำลายข้อจำกัดเหล่านี้ไปในอนาคตจะมีการทดลองกับสิ่งมีชีวิต ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากอิสราเอลเน้นย้ำว่าการทดลองมดลูกเทียมนี้ มิได้มีขึ้นเพื่อทำลายกฎแห่งธรรมชาติ หากแต่ใช้เพื่อศึกษาความผิดปกติของตัวอ่อนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อมนุษย์ในอนาคตด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Engadget

ข่าวแนะนำ