TNN เจาะโลกไขปริศนา ! ขุดแกนน้ำแข็งอายุ 1.2 ล้านปีจากแอนตาร์กติกา ศึกษาสภาพอากาศโลก

TNN

Tech

เจาะโลกไขปริศนา ! ขุดแกนน้ำแข็งอายุ 1.2 ล้านปีจากแอนตาร์กติกา ศึกษาสภาพอากาศโลก

 เจาะโลกไขปริศนา ! ขุดแกนน้ำแข็งอายุ 1.2 ล้านปีจากแอนตาร์กติกา ศึกษาสภาพอากาศโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติประกาศว่าสามารถขุดเจาะแกนน้ำแข็งที่ความลึกถึง 2.8 กิโลเมตร จากทวีปแอนตาร์กติกาได้สำเร็จ เตรียมส่งไปวิเคราะห์เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติประสบความสำเร็จในการเจาะแกนน้ำแข็งที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเจาะเข้าไปในพื้นที่บริเวณแอนตาร์กติกด้วยความลึกเกือบ 2.8 กิโลเมตร เพื่อเข้าถึงน้ำแข็งที่พวกเขากล่าวว่ามีอายุอย่างน้อย 1.2 ล้านปี โดยเชื่อว่าการวิเคราะห์น้ำแข็งโบราณแห่งนี้ จะแสดงให้เห็นว่าชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศของโลก มีวิวัฒนาการอย่างไร


โครงการนี้ดำเนินขึ้นภายใต้ชื่อ บียอน อีพิคา (Beyond EPICA) ซึ่งเป็นโครงการขุดเจาะแกนน้ำแข็งโบราณในแถบแอนตาร์กติกา เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวัฏจักรยุคน้ำแข็ง ซึ่งอาจจะช่วยในการทำความเข้าใจว่าคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างไรบ้าง


การขุดเจาะครั้งนี้มีความลึกที่ 2.8 กิโลเมตร จากสถานที่ขุดเจาะที่เรียกว่า ลิตเติ้ลโดม ซี (Little Dome C)  บนที่ราบสูงแอนตาร์กติกทางตะวันออกของทวีป โดยมีทีมนักวิทยาศาสตร์ 16 คนและบุคลากรสนับสนุนการขุดตลอดระยะเวลาสี่ปี ในพื้นที่อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -35 องศาเซลเซียส 


แกนน้ำแข็ง ได้ถูกตัดเป็นชิ้นขนาด 1 เมตร เพื่อขนส่งที่อุณหภูมิ -50 องศาเซลเซียส จากทวีปแอนตาร์กติกาทางเรือ ไปยังตู้แช่แข็งของสถาบันต่าง ๆ ในยุโรป ให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่อไป


ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า แกนน้ำแข็งมีอายุอย่างน้อย 1.2 ล้านปี รวมถึงพบร่องรอยของฟองอากาศและอนุภาค ที่แสดงระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความแปรผันของอุณหภูมิ ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ 


ส่วนข้อมูลจากแกนน้ำแข็งอื่น ๆ ที่เคยมีการขุดเจาะมาก่อนหน้านี้ ก็จะถูกนำมาศึกษาร่วมกัน เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปได้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีสาเหตุมาจากการที่มนุษย์เผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากน้อยเพียงใด


โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศในอดีต ผ่านการวิเคราะห์ก้อนน้ำแข็งเหล่านี้ จะช่วยให้เราเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมของมนุษย์ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาและเคมี ก็อาจจะชี้ให้เห็นถึงร่องรอยของแร่ธาตุที่ล้ำค่า ซึ่งจะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย


ข้อมูลจาก apvideohubbbc

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง