TNN Blue Origin เตรียมส่งจรวด New Glenn ลำแรกในสัปดาห์หน้า

TNN

Tech

Blue Origin เตรียมส่งจรวด New Glenn ลำแรกในสัปดาห์หน้า

Blue Origin เตรียมส่งจรวด New Glenn ลำแรกในสัปดาห์หน้า

Blue Origin เตรียมส่งจรวด New Glenn ลำแรกในสัปดาห์หน้า วันและเวลาที่แน่ชัดสำหรับการปล่อยจรวดทดสอบครั้งแรกยังไม่ได้รับการยืนยัน

บริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) บริษัทอวกาศเอกชนที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งแอมะซอน (Amazon) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีของโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีกและอุตสาหกรรมดิจิทัล เตรียมเข้าสู่ตลาดจรวดขนาดใหญ่ด้วยการเปิดตัวจรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม วันและเวลาที่แน่ชัดสำหรับการปล่อยจรวดทดสอบครั้งแรกยังไม่ได้รับการยืนยัน


หลังจากการพัฒนามายาวนานตั้งแต่ปี 2016 จรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) มีความพร้อมสำหรับการทดสอบปล่อยครั้งแรก โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ระบุว่าช่วงเวลาเปิดตัวที่เป็นไปได้จะเริ่มในวันที่ 6 มกราคม ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา จากบริเวณบนแท่นปล่อยจรวด Space Launch Complex 36 ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา


จรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) เป็นจรวดขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตัวจรวดจัดอยู่ในประเภทจรวดเชื้อเพลิงเหลวออกซิเจนเหลว (Liquid Oxygen หรือ LOX) และก๊าซมีเทนเหลว (Liquid Methane หรือ CH₄) โดยจรวดขั้นแรกสามารถลงจอดบนแท่นลอยน้ำกลางมหาสมุทร เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในจรวด Falcon และ Starship ของบริษัท SpaceX ซึ่งถูกทดสอบไปก่อนหน้านี้แล้ว 6 ครั้ง สำหรับจรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) จะสามารถบินได้มากถึง 25 เที่ยวต่อการใช้งานบูสเตอร์หนึ่งชุด


จรวดนิว เกล็นน์ (New Glenn) มาพร้อมแฟริ่งขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 23 ฟุต (7 เมตร) ซึ่งใหญ่กว่าแฟริ่งขนาดมาตรฐานถึงสองเท่า จรวดสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากถึง 13 เมตริกตัน สู่วงโคจรค้างฟ้า และ 45 เมตริกตัน สู่วงโคจรต่ำของโลก ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบรรทุกอุปกรณ์และภารกิจในอนาคต 


สำหรับการปล่อยจรวดครั้งแรกของบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) จะไม่บรรทุกภารกิจเชิงพาณิชย์ แต่จะทดสอบด้วยการบรรทุกน้ำหนักจำลอง Blue Ring Pathfinder ที่มีน้ำหนัก 20,411 กิโลกรัม ระบบนี้จะช่วยทดสอบการสื่อสาร การควบคุมการบิน และระบบติดตามอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจจริงในอนาคต


“ยานอวกาศสาธิตประกอบด้วยระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์การบินที่ติดอยู่กับวงแหวนอะแดปเตอร์บรรทุกสัมภาระสำรอง ระบบนำทางจะตรวจสอบความสามารถในการสื่อสารของ Blue Ring จากวงโคจรถึงพื้นโลก ภารกิจนี้ยังจะทดสอบระบบโทรมาตรหรือระบบที่ใช้สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานะ การทำงาน หรือสภาพแวดล้อมของอุปกรณ์หรือยานพาหนะในอวกาศ ฮาร์ดแวร์ติดตามและสั่งการ และการติดตามเรดิโอเมตริกภาคพื้นดินที่จะใช้กับยานอวกาศผลิต Blue Ring ในอนาคตอีกด้วย” ตามการเปิดเผยของบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin)


ปัจจุบันบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) มีพันธมิตรสำคัญหลายราย เช่น NASA สำหรับการส่งหัววัดดาวอังคาร ESCAPADE, Amazon สำหรับโครงการดาวเทียมอินเทอร์เน็ต Kuiper โครงการของบริษัท Amazon ที่มุ่งเน้นพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่การเข้าถึงเครือข่ายแบบดั้งเดิมเป็นเรื่องยากหรือไม่มีเลย เช่น พื้นที่ห่างไกลในชนบทหรือพื้นที่ที่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงโครงการ AST SpaceMobile สำหรับการสื่อสารจากอวกาศ


ที่มาของข้อมูล Space

ที่มาของรูปภาพ Blue Origin

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง