TNN พบรอยเท้าไดโนเสาร์ 200 รอย อายุ 166 ล้านปี ในอังกฤษ

TNN

Tech

พบรอยเท้าไดโนเสาร์ 200 รอย อายุ 166 ล้านปี ในอังกฤษ

พบรอยเท้าไดโนเสาร์ 200 รอย อายุ 166 ล้านปี ในอังกฤษ

พบรอยเท้าไดโนเสาร์ 200 รอย อายุ 166 ล้านปี ในอังกฤษ เกิดจากไดโนเสาร์ที่เคยเดินผ่านบริเวณนี้ในยุคจูราสสิกตอนกลาง (Middle Jurassic)

การค้นพบครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นในเหมืองหินดิวเออร์ส ฟาร์ม ควอรี (Dewars Farm Quarry) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ โดยเผยให้เห็นรอยเท้าไดโนเสาร์กว่า 200 รอย ที่มีอายุกว่า 166 ล้านปี ร่องรอยเหล่านี้เกิดจากไดโนเสาร์ที่เคยเดินผ่านบริเวณนี้ในยุคจูราสสิกตอนกลาง (Middle Jurassic) เป็นช่วงเวลาหนึ่งในยุคจูราสสิก (Jurassic Period) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era) มีอายุประมาณ 174 - 166 ล้านปีก่อน


รอยเท้าบางส่วนมาจาก เมกาโลซอรัส (Megalosaurus) ไดโนเสาร์กินเนื้อสองขาที่มีความยาวเท่ารถประจำทาง และซอโรพอด (Sauropod) หรือไดโนเสาร์คอยาวกินพืชเป็นอาหาร เช่น เซติโอซอรัส (Cetiosaurus) ซึ่งมีความยาวถึง 18 เมตร หรือเท่ากับสนามเทนนิส จุดเด่นของการค้นพบครั้งนี้คือการพบรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อและกินพืชที่ตัดกัน ซึ่งอาจแสดงถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างไดโนเสาร์เหล่านี้ เช่น การล่า หรือเดินผ่านพื้นที่นี้ในช่วงเวลาต่าง ๆ


รอยเท้าไดโนเสาร์เหล่านี้ถูกพบครั้งแรกในปี 2024 มาโดยคนงานเหมืองชื่อแกรี่ จอห์นสัน หลังจากสังเกตเห็นความผิดปกติระหว่างใช้เครื่องขุด หลังจากนั้นทีมวิจัยกว่า 100 คน จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเบอร์มิงแฮม ได้ร่วมกันค้นหารอยเท้าในเดือนมิถุนายน 2024 โดยพบร่องรอยทั้งหมด 5 เส้นทาง รวมถึงรอยเท้ายาวเกือบ 150 เมตร นับเป็นแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรที่เคยค้นพบ


รอยเท้าไดโนเสาร์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไดโนเสาร์เดินบนพื้นดินที่เป็นโคลนหรือดินอ่อน จากนั้นรอยเท้าเหล่านั้นถูกฝังและเก็บรักษาไว้โดยตะกอนที่ทับถมจนกลายเป็นหินในเวลาต่อมา โดยจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ดินชื้นและการสะสมตัวของตะกอนอย่างรวดเร็ว มีส่วนสำคัญในการทำให้รอยเท้าถูกเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน


การศึกษารอยเท้าไดโนเสาร์ทีมวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น โดรนและการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ช่วยให้นักวิจัยวิเคราะห์ขนาด การเคลื่อนไหว และปฏิสัมพันธ์ของไดโนเสาร์ได้อย่างละเอียด ดร.ดันแคน เมอร์ด็อก จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า "รอยเท้าเหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงชีวิตประจำวันของไดโนเสาร์"


“รายละเอียดของรอยเท้าทำให้เราเข้าใจถึงวิธีการที่ไดโนเสาร์เคลื่อนตัวผ่านดินโคลนในทะเลสาบโบราณ รวมถึงสภาพแวดล้อมในยุคนั้น” ดร.เมอร์ด็อกกล่าวเพิ่มเติม


สำหรับเมกาโลซอรัส (Megalosaurus) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อตัวแรกที่ได้รับการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์เมื่อปี 1824 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์ การค้นพบครั้งนี้จึงเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของไดโนเสาร์ นอกจากนี้ทีมงานยังค้นพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ เช่น เปลือกหอย และพืช ซึ่งทำให้นักวิจัยได้ศึกษาการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์เพิ่มมากขึ้น


ที่มาของข้อมูล Newatlas

ที่มาของรูปภาพ Dr. Emma Nicholls, OUMNH University



ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง