TNN ก้าวสู่ยุคใหม่ อินโดนีเซียพัฒนา AI เข้าใจวัฒนธรรมและภาษาของตน

TNN

Tech

ก้าวสู่ยุคใหม่ อินโดนีเซียพัฒนา AI เข้าใจวัฒนธรรมและภาษาของตน

ก้าวสู่ยุคใหม่ อินโดนีเซียพัฒนา AI เข้าใจวัฒนธรรมและภาษาของตน

อินโดนีเซียกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ โดยเน้นการพัฒนา AI ที่เข้าใจและตอบสนองต่อวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง แทนที่จะนำเข้าโมเดลจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกกำลังสนใจและแข่งกันพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) กันอย่างดุเดือด "อินโดนีเซีย" ประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ล่าสุดอินโดนีเซียกำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเทคโนโลยีด้วยการพัฒนา AI ที่มีความสามารถในการเข้าใจและตอบสนองต่อวัฒนธรรมและภาษาของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการขยายความสามารถและสร้างอัตลักษณ์ของ AI ที่ถูกสร้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้มี AI ทำความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความแปลกใหม่จาก AI ทั่วไปที่มักจะตอบสนองด้วยวัฒนธรรมและภาษาของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นดินแดนของบริษัทผู้พัฒนา AI ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน


ผลงานนี้เป็นความร่วมมือของบริษัท โกทู (Goto) ที่เป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างสองบสตาร์ตอัปยักษ์ใหญ่ คือ โกเจ็ก (Gojek) บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมที่สุดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย โดยมีบริการหลากหลาย (Super App) และ พีที โทโกพีเดีย (PT Tokopedia) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของอินโดนีเซีย ที่มุ่งเน้นด้านการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) โดยทั้งสองได้ลงทุนด้านเทคโนโลยี AI อย่างจริงจัง ผ่านการพัฒนา "Sahabat-AI" ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และข้อมูลทั่วไปของอินโดนีเซียได้อย่างแม่นยำ โดย แพทริก วาลูโจ (Patrick Walujo) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Goto กล่าวว่า Sahabat-AI ออกแบบมาเพื่อทำความเข้าใจถึงบริบทท้องถิ่น และเชื่อมช่องว่างที่เหลือไว้ด้วยโมเดลทั่วโลก


การพัฒนานี้จะพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับพันธมิตร สถาบันวิจัยท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐ ด้วย Open-Source Model หรือ การเปิดเผยข้อมูลภาษาที่ใช้พัฒนาเป็นสาธารณะ ซึ่งผู้ดาวน์โหลดสามารถนำซอฟต์แวร์ (Software) ไปใช้งานหรือพัฒนาต่อได้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 11,000 ครั้ง


ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทอร์บูก้า (Universitas Terbukaมหาวิทยาลัยเปิด ที่มุ่งเน้นหลักสูตรออนไลน์ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ที่เน้นการเรียนการสอนแบบเปิดกว้างและยืดหยุ่น ซึ่งผู้เรียนสามารถศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องเรียนตามตารางเวลาที่กำหนด ได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในงานด้านการศึกษาผ่าน Azure OpenAI หรือบริการคลาวด์ (cloud) ที่พัฒนาขึ้นร่วมกันระหว่าง Microsoft และ OpenAI ที่สามารถสร้างแอปพลิเคชัน AI ได้ 


ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาโมเดล AI นี้เพื่อใช้ในการศึกษา และได้ทำการใส่ข้อมูล AI ด้วยข้อมูลจากตำราเรียน และข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย โดย AI ตัวนี้สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนได้อย่างละเอียด รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอินโดนีเซียได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น และสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี AI ในการนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถเข้าถึงได้โดยทุกคน


ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกรณีการใช้งานแบบอื่น ๆ เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์แปลภาษาอาหรับเป็นอักษรเบรล์ด้วย ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้พิการทางสายตาชาวมุสลิมสามารถเข้าถึงเอกสารทางศาสนาได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น 


การที่อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศและสังคมในหลากหลายด้านให้ดียิ่งขึ้น และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยหันมาพัฒนา AI ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองมากขึ้นเช่นกัน


เป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไปว่า ประเทศไทยควรจะมีการพัฒนา AI ที่เข้าใจวัฒนธรรมไทยและภาษาไทยมากขึ้นหรือไม่? และ AI จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในด้านใดบ้าง? 


ที่มา: Nikkei , Goto CompanyQuickerpthailand.com

ข่าวแนะนำ