TNN เที่ยวบินเดินทางย้อนเวลา บินขึ้นในปี 2025 แต่ลงจอดในปี 2024

TNN

Tech

เที่ยวบินเดินทางย้อนเวลา บินขึ้นในปี 2025 แต่ลงจอดในปี 2024

เที่ยวบินเดินทางย้อนเวลา บินขึ้นในปี 2025 แต่ลงจอดในปี 2024

เที่ยวบินเดินทางย้อนเวลา บินขึ้นในปี 2025 แต่ลงจอดในปี 2024 เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ในช่วงเวลาแห่งการเคาท์ดาวน์ปีใหม่ทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลองการเข้าสู่ปีใหม่ 2025 ตามปฏิทินสากล แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่ต้องเดินทางข้ามประเทศ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า เที่ยวบินเดินทางย้อนเวลา หรือเหตุการณ์ที่เครื่องบินโดยสารบินขึ้นในสนามบินของประเทศที่เข้าสู่ปี 2025 ไปแล้ว และเครื่องบินได้บินไปลงจอดในเขตประเทศที่ยังเป็นปี 2024 อยู่


เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่โดยเพจ Hflight ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องบิน โดยเพจได้ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ Flightradar24 พบว่าเที่ยวบิน NH106 ของสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ส (NH/ANA) ออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (ฮาเนดะ) (HND) ในเวลา 01.19 น. วันที่ 1 มกราคม 2568 หลังจากผู้โดยสารและลูกเรือบนเที่ยวบินได้เฉลิมฉลอง Countdown ต้อนรับปีใหม่ 2025 ที่โตเกียวไปเรียบร้อยแล้ว


อย่างไรก็ตาม เที่ยวบิน NH106 ซึ่งดำเนินการบินด้วยเครื่อง Boeing 787-8 หมายเลขทะเบียน JA828A กำลังมุ่งหน้าสู่การ "ย้อนเวลา" กลับไปในปี 2024 เนื่องจากมีกำหนดลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส (LAX) สหรัฐอเมริกา ในเวลา 17.06 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือบนเที่ยวบินนี้มีโอกาสฉลอง Countdown ต้อนรับปีใหม่ถึงสองครั้ง


สาเหตุที่เครื่องบินเดินทางย้อนไปปี 2024 ได้นั้นเกิดขึ้นจาก เวลาที่โตเกียว (UTC+9) เร็วกว่าเวลาที่ลอสแอนเจลิส (UTC-8) ถึง 17 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อเที่ยวบินนี้ออกเดินทางจากโตเกียวตอนตีหนึ่งของวันที่ 1 มกราคม 2025 เวลาที่ลอสแอนเจลิสยังเป็นช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2024 และด้วยระยะเวลาบินประมาณ 9 ชั่วโมง ซึ่งเที่ยวบินต้องข้ามเส้นแบ่งเขตวันสากล (International Date Line) ไปทางทิศตะวันออก ทำให้เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เที่ยวบินจะลงจอดในช่วงเย็นของวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือกล่าวได้ว่าเดินทางมาถึงก่อนเวลาที่ออกเดินทางจากโตเกียว


สำหรับเส้นแบ่งเวลา (International Date Line หรือ IDL) ความจริงแล้วเป็นเส้นสมมุติที่ลากผ่านพื้นผิวโลก เพื่อแบ่งเขตเวลาของวันหนึ่งกับวันถัดไป โดยทั่วไปแล้วเส้นแบ่งเวลานี้จะอยู่ใกล้กับเส้นแวง 180 องศา (ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเส้นเมริเดียนหลัก หรือ Prime Meridian ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ) แต่ไม่ได้ตรงกันทั้งหมด เนื่องจากปรับตามเขตแดนและประเทศเพื่อความสะดวกทางการปกครองและเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยนั้นถูกกำหนดให้อยู่ในเขตเวลา UTC+7 (Coordinated Universal Time +7 ชั่วโมง) ซึ่งหมายความว่าเวลาของประเทศไทยเร็วกว่าเวลา UTC มาตรฐานอยู่ 7 ชั่วโมง


ที่มาของข้อมูล FacebookFlightaware





ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง