TNN อินเดียส่งดาวเทียม SpaDeX 2 ดวง ขึ้นสู่อวกาศทดสอบระบบเชื่อมต่อของสถานีอวกาศในอนาคต

TNN

Tech

อินเดียส่งดาวเทียม SpaDeX 2 ดวง ขึ้นสู่อวกาศทดสอบระบบเชื่อมต่อของสถานีอวกาศในอนาคต

อินเดียส่งดาวเทียม SpaDeX 2 ดวง ขึ้นสู่อวกาศทดสอบระบบเชื่อมต่อของสถานีอวกาศในอนาคต

อินเดียส่งดาวเทียม SpaDeX 2 ดวง ขึ้นสู่อวกาศทดสอบระบบเชื่อมต่อของสถานีอวกาศในอนาคต

วันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา อินเดียประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมคู่ขึ้นสู่อวกาศในเที่ยวบินทดสอบระบบเชื่อมต่อของสถานีอวกาศที่จะก่อสร้างในอนาคต โดยภารกิจดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสาธิตเทคโนโลยีสำคัญที่ประเทศจำเป็นต้องใช้ในการสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง และนำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมายังโลก


องค์การวิจัยอวกาศอินเดียเปิดเผยดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวงนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Space Docking Experiment (SpaDeX) การปล่อยตัวเกิดขึ้นตรงเวลา 11:30 น. ตามเวลาในประเทศอินเดีย จากบริเวณศูนย์อวกาศ Satish Dhawan ในบริเวณศรีฮารีโกตา รัฐอานธร ทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย


"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศความสำเร็จในการส่งจรวด PSLV 60 สำหรับภารกิจ SpaDeX จรวดได้นำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรที่ถูกต้อง หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ความพยายามในการเชื่อมต่อครั้งแรกอาจเกิดขึ้นภายในวันที่ 7 มกราคมนี้" ศรีธารา โสมนาถ (Sreedhara Somanath) ประธานขององค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (Indian Space Research Organisation: ISRO) เปิดเผยความสำเร็จของภารกิจ


สำหรับภารกิจ SpaDeX ประกอบด้วยดาวเทียม 2 ดวง คือ Target และ Chaser ซึ่งมีภารกิจทดสอบเทคโนโลยีเชื่อมต่ออัตโนมัติในวงโคจร โดยทาง ISRO หวังที่จะทำมากกว่าแค่ทดสอบอุปกรณ์เชื่อมต่ออัตโนมัติ


โดยในภารกิจนี้ยังมีการบรรทุกโมดูลรองที่มีการทดลอง 24 แบบ รวมถึงแขนกลขนาดเล็กซึ่งอยู่บนขั้นที่ 4 ของจรวด PSLV ซึ่งแยกจากดาวเทียม SpaDeX นักวิทยาศาสตร์อินเดียหวังที่จะทดสอบแขนกลและการทดลองอื่น ๆ เช่น การทดสอบการควบคุมยานอวกาศแบบคู่ และการถ่ายโอนพลังงานระหว่างยานอวกาศที่เชื่อมต่อกันบนอวกาศ


สำหรับแขนหุ่นยนต์ที่ถูกส่งขึ้นไปทดสอบบนอวกาศมีลักษณะเป็นแขนหุ่นยนต์รูปทรงคล้ายหนอนขนาดเล็กที่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้คล้ายแขนหุ่นยนต์ CanadArm2 บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS โดยแขนหุ่นยนต์จะพยายามจับเศษชิ้นส่วนภายนอกยานเพื่อจำลองการจัดเก็บชิ้นส่วนขยะอวกาศ


"เทคโนโลยีนี้มีความจำเป็นต่อ เป้าหมายด้านอวกาศของอินเดีย เช่น การส่งตัวอย่างจากหินดวงจันทร์กลับโลก การสร้างและการดำเนินงานสถานี Bharatiya Antariksh (BAS) สถานีอวกาศบนวงโคจรของโลกโดยอินเดีย" องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม


กระบวนการเชื่อมต่อ คาดว่าจะเกิดขึ้นในขณะที่ยานอวกาศ Target และ Chaser บินอยู่ในวงโคจรต่ำของโลกที่ระดับความสูง 290 ไมล์ หรือประมาณ 470 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก คาดว่ายานอวกาศทั้ง 2 ลำ ซึ่งแต่ละลำมีน้ำหนัก 485 ปอนด์ หรือประมาณ 220 กิโลกรัม จะเริ่มทดสอบการปฏิบัติการนัดพบจากระยะห่างเพียง 12 ไมล์ หรือประมาณ 20 กิโลเมตร โดยยานอวกาศ Chaser จะเป็นฝ่ายเข้าใกล้มากขึ้นจนถึงระยะการเชื่อมต่อกับยานอวกาศ Target


ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ ISRO

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง