AI ตัวใหม่ตรวจผู้ป่วยพบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก่อนที่จะมีอาการ
AI ประสบความสำเร็จในการทดลองตรวจหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้ป่วยได้ ก่อนผู้ป่วยจะเกิดอาการ
นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจพบผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation - AF) ได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีการแสดงอาการใด ๆ โดย AI นี้จะมีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลจากประวัติการรักษาของผู้ป่วย เพื่อค้นหาสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation - AF)
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation - AF) เป็นภาวะที่หัวใจเต้นผิดปกติ และมีจังหวะการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการ ร่างกายอ่อนแรง หายใจไม่ทัน ใจสั่น และสามารถเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการหลอดเลือดในสมองอุดตัน (Stroke) อีกด้วย เพราะผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และหลุดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมองได้
AI นี้เป็นประโยชน์อย่างมากในวงการแพทย์ปัจจุบัน เพราะการตรวจพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF) ก่อนที่จะมีอาการนั้น ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาแก่ผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจากสถิติชี้ให้เห็นว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF) เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 20,000 ครั้งต่อปีในสหราชอาณาจักร
จอห์น เพงเกลลี (John Pengelly) อดีตนายทหารยศกัปตันวัย 74 ปี ผู้เข้าร่วมการทดลอง จากหมู่บ้านแอปเพอร์ลีย์ บริดจ์ (Apperley Bridge) เมืองแบรดฟอร์ด (Bradford) สหราชอาณาจักร กล่าวว่าเขา "รู้สึกขอบคุณอย่างมาก" ที่ได้เข้าร่วมในการทดลองนี้ และตรวจพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF) เพราะขณะนี้เขารับประทานยาเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมองที่มีความอันตรายถึงชีวิตได้
วิธีการทำงานของ AI นี้
ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยและปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ โรคประจำตัวอื่น ๆ ประวัติการเจ็บป่วย ผลการตรวจเลือด และข้อมูลทางพันธุกรรม AI นี้จะทำการค้นหาสัญญาณเตือนต่าง ๆ ล่วงหน้าที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
จากการทดลองในผู้ป่วยที่ เวสต์ยอร์กเชียร์ (West Yorkshire) พบว่า AI สามารถตรวจพบผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF) ได้หลายราย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ไม่มีอาการใด ๆ มาก่อน แต่หลังจากได้รับการรักษา ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
ดร. ราเมช นาฑารา (Dr Ramesh Nadarajah) จาก โรงพยาบาลลีดส์ทีชิงส์ (Leeds Teaching Hospital) ภายใต้ NHS Trust กล่าวว่า "หวังว่าการศึกษาในเวสต์ยอร์กเชียร์ (West Yorkshire) ในครั้งนี้จะปูทางสำหรับการทดลองในครั้งต่อไปทั่วสหราชอาณาจักร และหวังว่าแนวทางนี้จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF)ในระยะแรกและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง"
การพัฒนา AI เพื่อตรวจพบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ ที่จะช่วยให้การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง AI นี้ยังมีความแม่นยำในการตรวจ และนักวิจัยคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคหัวใจในอนาคต ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมีนัยสำคัญ
ที่มาของข้อมูล: BBC, Leeds Hospital NHS Trust UK, Sukumvit Hospital, Synphaet Hospital
ข่าวแนะนำ