TNN วัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจเผชิญกับปัญหาขาดแคลนภายในปี 2030

TNN

Tech

วัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจเผชิญกับปัญหาขาดแคลนภายในปี 2030

วัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจเผชิญกับปัญหาขาดแคลนภายในปี 2030

รายงานล่าสุด ของ McKinsey เตือนว่าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจเผชิญกับปัญหาขาดแคลนภายในปี 2030

การเปลี่ยนแปลงโลกเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายงานล่าสุดจาก McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ (Management Consulting Firm) ชี้ว่าภายในปี 2030 โลกอาจขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 


โดยการศึกษาพบว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.5 ล้านคัน ภายในปี 2023 เป็น 28 ล้านคันต่อปีภายในสิ้นทศวรรษ ความต้องการที่เพิ่มสูงนี้จะสร้างแรงกดดันต่อการจัดหาวัตถุดิบสำคัญ เช่น ลิเทียม แมงกานีสบริสุทธิ์สูง และกราไฟต์ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน


แม้ว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) จะลดการพึ่งพาวัสดุหายากอย่างโคบอลต์และนิกเกิล แต่โรงงานแบตเตอรี่ยังคงต้องใช้ลิเทียม แมงกานีส และกราไฟต์ในปริมาณมาก ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) จึงช่วยลดปัญหาได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลในห่วงโซ่อุปทานได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง


กระบวนการขุดและกลั่นวัตถุดิบต้นน้ำแร่ธาตุต่าง ๆ ยังมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยมลพิษจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าถึงประมาณ 40% รายงานของ McKinsey เน้นว่าการลดการปล่อยมลพิษในกระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยการจัดหาแหล่งวัตถุดิบจากพลังงานและเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษต่ำสามารถลดการปล่อยมลพิษได้มากถึง 80% ในขั้นตอนการทำเหมืองและการกลั่น ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับการลดต้นทุนเพื่อรักษาผลกำไรในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่


แมงกานีสบริสุทธิ์สูงซึ่งเป็นวัสดุสำคัญอีกชนิดหนึ่งกำลังเผชิญความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน แมงกานีสมีส่วนสร้างการปล่อยมลพิษราว 4% ในแบตเตอรี่ลิเทียม-นิกเกิล-แมงกานีส-โคบอลต์ (LI-NMC) และเมื่อแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ได้รับความนิยมมากขึ้น ความเข้มข้นของการปล่อยมลพิษจากแมงกานีสอาจเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า หากไม่มีการวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขความไม่สมดุลนี้


ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น โครงการมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 154 ล้านบาท ให้กับบริษัทโตโยต้า เพื่อนำไปพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญในการรับมือกับปัญหาในอุตสาหกรรมนี้ 


อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทานในระดับที่กว้างขวางกว่านั้นหรือการแก้ปัญหาในระดับโลก ยังคงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความต้องการที่เพิ่มขึ้นกับแนวทางที่ยั่งยืน พร้อมทั้งลดการปล่อยมลพิษให้น้อยที่สุด ความท้าทายดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในการบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันก็ต้องขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มาของข้อมูล electrek.co

ที่มาของรูปภาพ Pexels

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง