TNN ก้าวสำคัญจาก Google เปิดตัวชิปใหม่ คำนวณโจทย์จากหลายล้าน ๆ ปี เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น

TNN

Tech

ก้าวสำคัญจาก Google เปิดตัวชิปใหม่ คำนวณโจทย์จากหลายล้าน ๆ ปี เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น

ก้าวสำคัญจาก Google เปิดตัวชิปใหม่ คำนวณโจทย์จากหลายล้าน ๆ ปี เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น

กูเกิลเปิดตัวชิปชื่อ วิลโลว์ (Willow) สามารถแก้ความท้าทายของคอมพิวเตอร์ควอนตัมเรื่องปริมาณคิวบิต และอ้างว่าใช้เวลาแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ปัจจุบันต้องใช้เวลาแก้นาน 10 ล้านล้านล้านล้านปี ได้สำเร็จใน 5 นาทีเท่านั้น

กูเกิล (Google) เปิดตัวชิปใหม่ ซึ่งอ้างว่าใช้เวลาเพียง 5 นาที ในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ซึ่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในปัจจุบันต้องใช้เวลาแก้นานถึง 10 ล้านล้านล้านล้านปี (Septillion หรือ 10 ตามด้วย 0 อีก 24 ตัว) ซึ่งนั่นหมายความว่ายาวนานกว่าประวัติศาสตร์ของจักรวาลเสียอีก (จักรวาลมีอายุประมาณ 13,800 ล้านปี)


ชิปใหม่จากกูเกิล ชื่อ วิลโลว์ (Willow) ถือเป็นการพัฒนาครั้งล่าสุดในสาขาที่เรียกว่า ควอนตัม (Quantum Computing) หรือก็คือระบบประมวลผล ที่อาศัยหลักการควอนตัมมาสร้างคอมพิวเตอร์ประเภทใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงมหาศาล


ก้าวสำคัญจาก Google เปิดตัวชิปใหม่ คำนวณโจทย์จากหลายล้าน ๆ ปี เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น ที่มา : Reuters


ทั้งนี้ในการประมวลผลแบบควอนตัม จะมีหน่วยพื้นฐานของข้อมูล เรียกว่า คิวบิต (Qubit) ยิ่งมีคิวบิตจำนวนมาก คอมพิวเตอร์ควอนตัมก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพสูง แต่ปัญหาคือคิวบิตมีแนวโน้มเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย แม้กระทั่งอนุภาคเล็กจิ๋วกว่าอะตอมในอวกาศชน ซึ่งอาจพบข้อผิดพลาดได้ ดังนั้นยิ่งมีคิวบิตมากขึ้นโอกาสเกิดข้อผิดพลาดก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัญหานี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990


ความสำเร็จครั้งนี้ของกูเกิล เกิดขึ้นจากการที่บริษัทค้นพบวิธีเรียงร้อยคิวบิตจำนวนมากเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้อัตราข้อผิดพลาดลดลงแม้จำนวนคิวบิตเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือในวิลโลว์นี้มีคิวบิตมากถึง 105 คิวบิต นอกจากนี้บริษัทยังกล่าวว่าสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดในระบบควอนตัมได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ควอนตัมใช้งานได้จริง


ทั้งนี้คอมพิวเตอร์ควอนตัม ถูกคาดหวังว่าจะเข้ามามีประโยชน์อย่างมากต่อมนุษย์ เช่น สามารถค้นพบยา ค้นหาวิธีรักษาสุขภาพมนุษย์แบบใหม่ ๆ และความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันไม่มีคุณสมบัติที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันบางส่วนก็มีความกังวลว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เจาะเข้าระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน


ฮาร์ตมุต เนเวน (Hartmut Neven) หัวหน้าห้องปฏิบัติการควอนตัม เอไอ (Quantum AI) ของกูเกิลที่สร้างวิลโลว์ และยังเป็นผู้ที่มีมุมมองแง่บวกต่อคอมพิวเตอร์ควอนตัม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ว่า ชิปวิลโลว์จะถูกนำไปใช้งานในเชิงปฏิบัติ แต่ยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่าจะใช้งานไปในด้านใดบ้าง


โดยเนเวนกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตเทคโนโลยีควอนตัมจะเป็น “สิ่งที่ขาดไม่ได้” สำหรับการรวบรวมข้อมูลการฝึกอบรม AI และในที่สุดก็จะสามารถช่วยค้นพบยารักษาโรคใหม่ ๆ ออกแบบแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเร่งความก้าวหน้าในทางเลือกด้านฟิวชันและพลังงานใหม่ ๆ ด้วย


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิลโลว์ยังเป็นเพียงอุปกรณ์ทดลองในระดับสูง ซึ่งหมายความว่า ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อพัฒนาให้คอมพิวเตอร์ควอนตัมประสิทธิภาพสูงสำเร็จออกมาใช้ได้จริง และต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาขึ้นมาด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโลกเทคโนโลยีเลยทีเดียว


งานวิจัยฉบับนี้ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2024


ก้าวสำคัญจาก Google เปิดตัวชิปใหม่ คำนวณโจทย์จากหลายล้าน ๆ ปี เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น ที่มา : Reuters

ก้าวสำคัญจาก Google เปิดตัวชิปใหม่ คำนวณโจทย์จากหลายล้าน ๆ ปี เหลือเพียง 5 นาทีเท่านั้น ที่มา : Reuters


ที่มาข้อมูล BBC, Reuters, Nature, CNN, Google

ที่มารูปภาพ Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง