อีลอน มัสก์เล็งปฏิรูปรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ในตำแหน่ง 'รัฐมนตรีฝ่ายลดต้นทุน' หากทรัปม์ชนะเลือกตั้ง
อีลอน มัสก์เล็งปฏิรูปรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ในตำแหน่ง 'รัฐมนตรีฝ่ายลดต้นทุน' หากทรัปม์ชนะเลือกตั้ง ย้ำสามารถลดงบประมาณได้อย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 68 ล้านล้านบาท
การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงนับคะแนนเลือกตั้งอย่างสูสี ก่อนหน้านี้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อีลอน มัสก์มหาเศรษฐีชื่อดังของโลกได้ออกตัวสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีแนวคิดและนโยบายทางการเมืองตรงกัน Ffpทางด้านของโดนัลด์ ทรัมป์ มักเชิญอีลอน มัสก์ ขึ้นพูดบนเวทีหาเสียงบ่อยครั้งตลอดช่วงเวลาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024
รวมไปถึงการเสนอให้อีลอน มัสก์ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง "รัฐมนตรีฝ่ายลดต้นทุน" ให้กับรัฐบาลของตนเองหากชนะเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ โดยชูจุดเด่นในด้านการบริหารและสามารถลดงบประมาณของรัฐบาลลงได้จำนวนมาก
“เขาเป็นนักธุรกิจที่ยอดเยี่ยม และเขาสามารถลดต้นทุนได้ดีมาก ... เราจะมีตำแหน่งใหม่นั่น คือ รัฐมนตรีฝ่ายลดต้นทุน อีลอน มัสก์ เขาต้องการตำแหน่งนั้น และเราก็มีคนเก่ง ๆ ทำงานด้วยกันอีกมากมาย เขากำลังบริหารธุรกิจขนาดใหญ่” โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษในรายการ “Sunday Morning Futures” สถานีโทรทัศน์ Fox News เมื่อวันที่ 13 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางด้านอีลอน มัสก์ ได้ตอบรับแนวคิดดังกล่าวว่า "ผมสามารถลดต้นทุนได้โดยไม่กระทบใครเลย"
หากย้อนไปในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในสมัยที่ 1 เคยได้เชิญมหาเศรษฐีในวงการถึง 5 คน เข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดในคณะรัฐมนตรี เช่น เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซีอีโอของบริษัท เอ็กซอน, โมบิล เบ็ทซี เดอโวส มหาเศรษฐีผู้ใจบุญ และลินดา แม็กแมน อดีตซีอีโอของบริษัทเวิลด์ เรสต์ลิง เอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นต้น
วิธีการลดงบประมาณรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ประเด็นการลดงบประมาณของภาครัฐ อีลอน มัสก์ อ้างว่าหากใช้การบริหารจัดการที่ประสิทธิภาพรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสามารถลดงบประมาณได้อย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 68 ล้านล้านบาท โดยการตัดลดงบประมาณดังกล่าวมีมูลค่าเท่ากับหนึ่งในสามของงบประมาณรัฐบาลกลางในปีที่ผ่านมา แม้อีลอน มัสก์ ยังไม่ได้อธิบายวิธีการโดยละเอียด แต่คาดว่าสามารถทำได้โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านของเทคโนโลยีและการใช้งบประมาณประกันสังคม การดูแลสุขภาพ สวัสดิการทหารผ่านศึก และการป้องกันประเทศ แม้จะเสี่ยงต่อผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ข้อกังวลและเสียงวิพากษ์วิจารณ์
นักวิชาการในสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว เช่น บรูซ ชูลแมน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ได้แสดงความเห็นผ่านทางสำนักข่าว Aljazeera ถึงความพยายามลดรายจ่ายของรัฐบาลว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ และเกิดขึ้นในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แม้จะสร้างผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อโครงสร้างของรัฐบาล และความจริงแล้วจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นในขณะที่สัดส่วนรายจ่ายและจำนวนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางกลับลดลง เมื่อเทียบกับช่วงปี 1960-1970
ทางด้านของจอห์น เพลิสเซโร ผู้อำนวยการศูนย์จริยธรรมประยุกต์มาร์กคูลา (Markkula) แห่งมหาวิทยาลัยซานตาคลารา ตั้งคำถามถึงสถานะของมัสก์ในการดำรงตำแหน่งในรัฐบาล เนื่องจากเขาขาดประสบการณ์ในภาคส่วนสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลประโยชน์ด้านธุรกิจต่าง ๆ ที่อีลอน มัสก์ กำลังบริหารอยู่ เช่น บริษัทขนส่งอวกาศ SpaceX ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในโลก รวมไปถึงธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทของอีลอน มัสก์ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาอยู่ในปัจจุบัน
ที่มาของข้อมูล
ข่าวแนะนำ