ญี่ปุ่นพัฒนาดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลก หวังช่วยลดปัญหาขยะอวกาศ
วงการอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ประกาศเตรียมปล่อยดาวเทียมืที่ทำจากไม้ดวงแรกของโลก ทั้งนี้ก็เพื่อทดสอบการใช้วัสดุไม้บนอวกาศ และหวังจะช่วยลดขยะที่เกิดจากดาวเทียมโลหะ ที่ลอยอยู่บนวงโคจร
ทีมวิจัยชาวญี่ปุ่น เผยแผนการปล่อยดาวเทียมไม้ดวงแรกของโลกขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการใช้วัสดุประเภทไม้บนอวกาศ ต่อยอดไปสู่การสร้างอุปกรณ์ในการสำรวจดวงจันทร์ และดาวอังคารในอนาคต
ลิกโนแซต (LignoSat) เป็นดาวเทียมไม้ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกียวโต และบริษัทก่อสร้างบ้าน ซูมิโตโม ฟอเรสตี (Sumitomo Forestry) ซึ่งจะเตรียมขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติด้วยจรวดของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) โดยจะถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรที่ระดับ 400 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก
ลิกโนแซต (LignoSat) ตั้งชื่อตามภาษาละตินที่แปลว่า "ไม้" โดยหนึ่งในทีมผู้พัฒนาเผยว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีชาติใด ที่มีแผนจะใช้ไม้ในโครงการด้านอวกาศมาก่อน พวกเขาจึงตั้งเป้าที่จะทดลองใช้วัสดุนี้ โดยเริ่มจากการพัฒนาดาวเทียมไม้ดวงแรกที่องค์การนาซา (NASA) ให้การรับรอง เพื่อทดสอบคุณสมบัติของการใช้ไม้ในอวกาศ
ไม้ที่นำมาใช้งานนี้ มีคุณสมบัติที่ง่ายต่อการแปรรูป และทนทานต่อการแตกหัก จึงนำมาเอามาพัฒนาต่อยอด โดยหลังจากการทดลองกว่า 10 เดือน พวกเขาก็สามารถสร้าง ลิกโนแซต (LignoSat) ด้วยเทคนิคงานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยไม่ต้องใช้สกรูหรือกาวเป็นตัวยึดได้สำเร็จ
ดาวเทียมที่ทำจากไม้ ยังสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานโดยมันสามารถเผาไหม้ได้เกือบหมด และต่างจากดาวเทียมโลหะทั่วไป ที่จะปล่อยอนุภาคอะลูมิเนียมออกไซด์เมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกซึ่งอาจก่อให้เกิดมลพิษ
โดยตอนนี้ทีมพัฒนามีแผนปล่อย ลิกโนแซต (LignoSat) ให้อยู่ในวงโคจรเป็นเวลาหกเดือน เพื่อวัดว่าไม้จะทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงซึ่งมีอุณหภูมิผันผวนระหว่าง -100 ถึง 100 องศาเซลเซียส ทุก ๆ 45 นาทีได้อย่างไร เพื่อที่จะต่อยอดเป็นการพัฒนาดาวเทียมไม้ที่พร้อมใช้งานในอนาคต
ข้อมูลจาก reutersconnect, facebook
ข่าวแนะนำ