ฉีดมลพิษลงหินใต้โลก เพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์นับล้านปี
บริษัทสหรัฐฯ เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ในรัฐเท็กซัส เพื่อกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจะกลายเป็นแหล่งกักเก็บ CO2 ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
บริษัทน้ำมันและก๊าซสัญชาติสหรัฐฯ อย่างเอ็กซอนโมบิล (Exxonmobil) เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ใต้ทะเลกว้างประมาณ 1,100 ตารางกิโลเมตร นอกชายฝั่งเมืองกัลเวสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยจะฉีดลงไปกักเก็บในชั้นหินใต้ทะเล พื้นที่ดังกล่าวนี้กำลังจะกลายเป็นแหล่งกักเก็บ CO2 ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ปกติแล้วในชั้นหินใต้โลกจะมีรอยแตกของหิน ซึ่งบางกรณีจะเป็นแหล่งกักเก็บของน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ แต่ในบางพื้นที่ มันก็ได้ถูกนำมาเป็นแหล่งดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ด้วย โดยส่วนใหญ่ใช้กระบวนการที่เรียกว่า Enhanced Oil Recovery (EOR) ซึ่งเป็นเทคนิคสกัดน้ำมันเพิ่มเติมหลังจากใช้วิธีหลักสกัดแล้ว
โดย CO2 จะถูกฉีดลงไปเก็บในชั้นหินใต้มหาสมุทรที่ระดับความลึกประมาณมากกว่า 1 กิโลเมตร อุณหภูมิและแรงดันจะทำให้ CO2 อยู่ในสภาวะวิกฤตยิ่งยวด (Supercritical State) ซึ่งก๊าซจะถูกทำให้ประพฤติตัวเหมือนของเหลวช่วยให้กักกเก็บในชั้นใต้ดินได้ ทั้งนี้ CO2 สามารถกลายเป็นน้ำแข็งแห้งได้ที่อุณหภูมิ -78.5 องศาเซลเซียส และสามารถกลายเป็นของเหลวได้ที่อุณหภูมิประมาณ 31 องศาเซลเซียส ภายใต้แรงดัน 1,070 PSI
อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่แนวคิดริเริ่ม เนื่องจากแนวคิด CCS โดยใช้เทคนิค EOR นั้นมีมานานแล้ว เช่น โครงการ เวย์เบิร์น-ไมเดล (Weyburn-Midale) ใช้วิธี EOR โดยการฉีด CO2 เข้าไปในชั้นหินที่มีรอยแตกเพื่อสกัดน้ำมันดิบ ก่อนที่ CO2 ที่ถูกฉีดเข้าไปก็จะถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินหลายล้านปี คาดว่าในโครงการนี้มีการกักเก็บ CO2 ไว้มากกว่า 30 ล้านตันนับตั้งแต่ปี 2000
ส่วนผู้ที่บุกเบิกแนวคิดในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือประเทศนอร์เวย์ โดยเปิดตัวโครงการ CCS ระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกชื่อสลีปเนอร์ (Sleipner) ในปี 1996 โดยได้ฉีด CO2 เข้าไปในชั้นหินทรายที่มีรูพรุนสูง ซึ่งชั้นหินดังกล่าวนี้อยู่ใต้ทะเลลึกลงไปประมาณ 800 เมตร คาดว่าโครงการนี้กักเก็บ CO2 ได้ประมาณปีละ 1 ล้านตัน
โครงการ CCS โดยทั่วไปแล้วจะได้รับการออกแบบและวางแผนมาอย่างดีเพื่อไม่ให้ CO2 รั่วไหลออกมา แต่อย่างไรก็ตาม หากแหล่งกักเก็บดังกล่าวเกิดการรั่วไหล CO2 จะทำให้แหล่งน้ำโดยรอบเป็นกรด ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลบริเวณใกล้เคียง
นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ซึ่งเว็บไซต์นิวแอตลาส (Newatlas) รายงานว่าตามทฤษฎีแล้ว ก๊าซที่ถูกฉีดเข้าไปในแหล่งหินนี้จะถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินได้หลายล้านปี เว้นแต่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจนทำให้โครงสร้าง CCS พังทลาย แต่หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริง การรั่วไหลของ CO2 ก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่กังวลมากที่สุด
ที่มาข้อมูล NewAtlas, Exxonmobil
ที่มารูปภาพ Exxonmobil
ข่าวแนะนำ