ยานสำรวจยูโรปาคลิปเปอร์ ปลอดภัยจากพายุเฮอริเคนมิลตันที่พัดถล่มศูนย์อวกาศเคนเนดี
ยานสำรวจยูโรปาคลิปเปอร์ ปลอดภัยจากพายุเฮอริเคนมิลตันที่พัดถล่มศูนย์อวกาศเคนเนดี
วันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา นาซายืนยันว่ายานอวกาศในภารกิจยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Cilpper) ของนาซาได้รับการปกป้องจากพายุเฮอริเคนมิลตันที่พัดถล่มศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ระหว่างวันพุธที่ 9-10 ตุลาคม เป็นอย่างดี
ทีมงานของนาซาได้จัดเก็บยานสำรวจยูโรปา คลิปเปอร์ เอาไว้กับแท่นยึดแบบพิเศษภายในโรงเก็บยานอวกาศของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ใกล้บริเวณฐานปล่อยจรวด Launch Complex 39A ศูนย์อวกาศเคนเนดี ซึ่งสามารถรับมือกับพายุที่รุนแรงในระดับเฮอริเคนได้
ขณะนี้ทีมงานกำลังดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยานสำรวจลำนี้พร้อมสำหรับการปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 14 ตุลาคม โดยใช้จรวดฟอลคอนเฮฟวี่ (Falcon Heavy) แต่หากมีข้อผิดพลาดหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเลื่อนภารกิจออกไปทีมงานนาซาจะมีเวลาจนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายนสำหรับการแก้ไขปัญหา
แม้ภารกิจยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Cilpper) การมาถึงของพายุเฮอริเคนมิลตันจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการบนสถานีอวกาศนานาชาติ เช่น ภารกิจ Crew-8 ซึ่งเป็นภารกิจส่งนักบินอวกาศชุดที่ 8 จำนวน 4 คน ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่ต้องล่าช้ากว่ากำหนดเดิม 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 13 ตุลาคม
"ความปลอดภัยของบุคลากรในทีมปล่อยยานอวกาศเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา และเราจะใช้มาตรการป้องกันทุกวิถีทางเพื่อปกป้องยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์" ทิม ดันน์ (Tim Dunn) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายปล่อยยานอวกาศยูโรปา คลิปเปอร์ของนาซากล่าวอธิบายเพิ่มเติม
สำหรับภารกิจยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Cilpper) เป็นภารกิจสำรวจอวกาศขององค์การนาซา (NASA) ที่มีเป้าหมายเพื่อสำรวจดวงจันทร์ ยูโรปา ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นหนึ่งในดวงจันทร์ที่เชื่อว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะพบสิ่งมีชีวิต เนื่องจากคาดว่ามีมหาสมุทรน้ำแข็งอยู่ใต้พื้นผิว
หลังจากเดินทางขึ้นจากโลกคาดว่ายานสำรวจยูโรปา คลิปเปอร์ (Europa Cilpper) จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ปีในการเดินทางไปถึงดาวพฤหัสบดี และเริ่มทำการบินสำรวจยูโรปาในช่วงปี 2030
โดยใช้อุปกรณ์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของเปลือกน้ำแข็งดวงจันทร์ ยูโรปา เพื่อทำความเข้าใจถึงการเคลื่อนไหวของน้ำแข็งและการไหลเวียนของน้ำที่อยู่ใต้พื้นผิว ซึ่งอาจเป็นแหล่งที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงความหนาแน่นของบรรยากาศ สนามแม่เหล็ก และรังสี เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในระบบดาวพฤหัสบดี
ข่าวแนะนำ