รู้หรือไม่ ? แหล่งเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลอยู่ตรงไหน และใหญ่กว่าโลกกี่เท่า ?
มีไอน้ำล้อมรอบควอซาร์ชื่อ APM 08279+5255 มีปริมาณน้ำมากกว่าน้ำทั้งหมดบนโลกประมาณ 140 ล้านล้านเท่า คาดว่าเกิดขึ้นหลังจากจักรวาลเกิดขึ้นเพียง 1,600 ล้านปีเท่านั้น
ดาวโลกของเราถือเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ถูกผืนน้ำปกคลุมร้อยละ 71 ของพื้นผิวโลก โดยมีน้ำทั้งหมดบนโลกประมาณ 1,386,000,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร ตามการรายงานของ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ปริมาณน้ำนี้ อาจจะดูแล้วมากมายมหาศาล แต่หากเปรียบเทียบกับแหล่งเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ ปริมาณน้ำบนโลกของเราก็แทบจะเรียกได้ว่าแห้งแล้งเลยทีเดียว
โดยในปี 2011 ทีมนักวิจัยนำโดยนักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology หรือ Caltech) ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร The Astrophysical Journal Letters ซึ่งค้นพบ "ไอน้ำ" ที่กินพื้นที่หลายร้อยปีแสง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ มากกว่าปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกของเราประมาณ 140 ล้านล้านเท่า (Trillion Time)
โดยไอน้ำนี้เกิดล้อมรอบ "ควอซาร์" หรือจุดที่สว่างและทรงพลังอย่างมากในจักรวาลของเรา พบในใจกลางกาแล็กซีบางแห่ง เกิดขึ้นเมื่อหลุมดำมวลยิ่งยวดดูดกลืนก๊าซ ฝุ่น และสสารอื่น ๆ เข้ามา ก็จะเกิดความร้อนขึ้นและปลดปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมาเป็นแสงสว่างเจิดจ้า โดยเป็นควอซาร์ที่ชื่อ APM 08279+5255 มีความพิเศษเฉพาะตัว ตรงที่ผลิตไอน้ำออกมาในปริมาณมหาศาล ควอซาร์นี้มีหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 20,000 ล้านเท่า และผลิตพลังงานได้เทียบเท่าดวงอาทิตย์ของเรา 1,000 ล้านล้านดวง
ควอซาร์ดังกล่าวนี้อยู่ห่างจากโลกเราไปประมาณ 12,000 ล้านปีแสง และคาดว่าเกิดขึ้นหลังจากที่จักรวาลเกิดขึ้นมาเพียง 1,600 ล้านปีเท่านั้น ดังนั้นนอกจากจะเป็นแหล่งเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลแล้ว มันจึงอาจจะเป็นแหล่งเก็บน้ำที่เก่าแก่ที่สุดในจักรวาลอีกด้วย
แมตต์ แบรดฟอร์ด (Matt Bradford) นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา (NASA) ผู้นำวิจัยกล่าวว่า "นี่เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ว่า น้ำสามารถแพร่กระจายไปทั่วทั้งจักรวาล แม้ในช่วงแรกเริ่มที่สุดก็ตาม" และนับว่าเป็นอีกหนึ่งการค้นพบ ที่เปิดเผยให้เห็นถึงความน่าทึ่งของเอกภพอันกว้างใหญ่ และตอกย้ำว่าโลก เป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็ก ๆ ในจักรวาลเช่นเดียวกับมนุษย์เรานั่นเอง
ที่มาข้อมูล Timesofindia, EarthSky, Sciencedaily, NASA
ที่มารูปภาพ NASA
ข่าวแนะนำ