TNN “ลูกแพร์” รับบทพระเอกปลูกในโดมจำลองสภาพปี 2040 ล่วงหน้า แทนพืชทั้งโลก !

TNN

Tech

“ลูกแพร์” รับบทพระเอกปลูกในโดมจำลองสภาพปี 2040 ล่วงหน้า แทนพืชทั้งโลก !

“ลูกแพร์” รับบทพระเอกปลูกในโดมจำลองสภาพปี 2040 ล่วงหน้า แทนพืชทั้งโลก !

นักวิจัยจากเบลเยียม ทดลองใช้ “ลูกแพร์” ทดสอบปลูกในโดมเพาะชำที่จำลองสภาพภูมิอากาศซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2040 เพื่อหาผลกระทบเตรียมรับมือล่วงหน้า

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกเดือด (Global boiling) สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ธารน้ำแข็งละลาย เป็นต้น และปัจจัยต่าง ๆ นี้อาจทำให้การทำการเกษตรในอนาคตมีปัญหา และเพื่อรับมือเรื่องนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮัสเซลท์ (University of Hasselt) ในเบลเยียม จึงได้สร้างอีโคทรอน (Ecotron) อาคารทรงโดมโปร่งใส เพื่อจำลองสภาพอากาศในปี 2040 โดยภายในได้ปลูก "ลูกแพร์" เป็นพืชทดลอง


โดมปลูกลูกแพร์แห่งอนาคตปี 2040 

อีโคทรอน เป็นกลุ่มอาคารทรงโดมโปร่งใสที่มีอยู่ด้วยกัน 12 หลัง ตั้งอยู่บนส่วนด้านบนของอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงกระจก ตัวโดมมีพื้นที่ 3.14 ตารางเมตร และมึชั้นดินลึกลงไป 1.5 เมตร สำหรับรองรับชั้นรากของต้นแพร์ และมีห้องทดลอง ห้องทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องใต้ชั้นดินทดลองอีกทีหนึ่ง


โดมแต่ละหลังสามารถสร้างสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในการเพาะปลูกที่แตกต่างกันได้ เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กับปริมาณน้ำฝนในอากาศ ปริมาณความเข้มข้นแสง รวมถึงแรงตึงผิวน้ำในดิน และอุณหภูมิดินที่เพาะปลูก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะได้รับการตรวจสอบผ่านเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ทุก ๆ นาที หรือทุก ๆ 30 นาที ตามการออกแบบการทดลองของนักวิจัย


โครงการวิจัยอีโคทรอนปรากฏการก่อสร้างเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2016 และเริ่มการทดลองนับตั้งแต่การเพาะชำต้นกล้าของต้นแพร์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเบลเยียมที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโดมทั้ง 12 หลัง เป็นการจำลองสภาพอากาศในปีที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ปี 1951 ไปจนถึงปี 2086 ก่อนที่ผลผลิตชุดแรกจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในปัจจุบัน


ผลลัพธ์ลูกแพร์แห่งอนาคตปี 2040 

โดยผลการตรวจสอบพบว่า ลูกแพร์ที่ปลูกในสภาพอากาศจำลองปี 2040 นั้นมีปริมาณน้ำตาลในเนื้อลูกแพร์เพิ่มขึ้น แต่แลกกับการมีความสดที่ลดลง เนื่องมาจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปตลอดการเจริญเติบโตของลูกแพร์ ซึ่งส่งผลให้เก็บรักษาได้ยากขึ้น และมีปริมาณลูกแพร์ที่เน่าเสียก่อนส่งไปวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


การเปิดเผยการทดลองในโครงการอีโคทรอนเกิดขึ้นเพื่อให้เกษตรกร ตลอดจนภาครัฐของเบลเยียมเตรียมพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าว เนื่องจากในปี 2024 เบลเยียมจะกลายเป็นผู้ส่งออกลูกแพร์กว่าร้อยละ 27 ของลูกแพร์ทั่วโลก ตามการคาดการณ์ของสมาพันธ์แอปเปิลและลูกแพร์โลก (World Apple and Pear Association) ในขณะที่นักวิจัยจะทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนาคตของพืชผ่านการปลูกลูกแพร์ต่อไป




ข้อมูล University of Hasselt, Reuters

ภาพ University of Hasselt


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง