ถูกกลืนหายแต่หนีออกมาได้ ! ชวนดูปลาสายพันธุ์เดียวที่หนีรอดออกจากท้องนักล่าได้หลังถูกกลืนทั้งตัว
ปลาไหลญี่ปุ่น เป็นปลาสายพันธุ์เดียวที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถหนีออกมาจากท้องของปลาดาร์กสลีปเปอร์ได้ หลังจากถูกกลืนหายไปแล้วทั้งตัว
สัตว์ที่เป็นเหยื่อมักมีวิวัฒนาการเพื่อการหลบหนีจากการถูกนักล่ากิน บางสปีชีส์พัฒนาความเร็วเพื่อให้หลบหนีได้ บางสปีชีส์พรางตัวเพื่อให้นักล่ามองไม่เห็น แต่สำหรับ "ปลาไหลญี่ปุ่น" มันจะสอดหางออกจากท้องปลานักล่า เพื่อหลบหนีออกมาทางเหงือกของปลาเหล่านั้น ตามการรายงานของนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น
งานวิจัยนี้นำโดย ยูฮะ ฮาเซกาวะ (Yuha Hasegawa) นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นของการศึกษาคือเมื่อไม่กี่ปีก่อน ฮาเซกาวะสังเกตเห็นว่าปลาไหลญี่ปุ่น (ชื่อวิทยาศาสตร์ Anguilla japonica) ที่ถูกปลาที่มีชื่อว่า ดาร์กสลีปเปอร์ (Dark Sleeper ชื่อวิทยาศาสตร์ Odontobutis obscura) กลืนลงไปแล้วทั้งตัวนั้น ได้ออกมาปรากฏตัวในแทงค์น้ำอีกครั้ง
เขาจึงได้ศึกษาเพิ่มเติม โดยได้สังเกตปลาไหลญี่ปุ่น ที่ถูกปลาดาร์กสลีปเปอร์กลืนลงไปทั้งตัว จำนวน 54 ตัวด้วยกัน และพบว่ามีปลาไหลญี่ปุ่นถึง 28 ตัวที่สามารถหลบหนีออกมาจากท้องของปลานักล่าได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม เขายังไม่รู้ว่าพวกมันสามารถหนีรอดออกมาได้อย่างไร เนื่องจากกระบวนการหลบหนีนั้น เกิดขึ้นภายในท้องของปลาดาร์กสลีปเปอร์
ฮาเซกาวะและเพื่อนร่วมทีมวิจัยของเขา จึงได้ศึกษากระบวนการเพิ่มเติม โดยได้มีการฉีดสารทึบรังสี (Contrast Agents) เข้าไปในตัวปลาไหลญี่ปุ่น ซึ่งสารนี้ทำให้สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของปลาไหลญี่ปุ่นภายในตัวปลาดาร์กสลีปเปอร์ได้ ผ่านอุปกรณ์ถ่ายวิดีโอด้วยรังสีเอ็กซ์
จากกระบวนการนี้ ทำให้นักวิจัยพบว่า ปลาไหลญี่ปุ่น จะใช้วิธีสอดหางเข้าไปยังหลอดอาหารของปลานักล่า จากนั้นมันจะดิ้นรนออกมาจากเหงือกของปลาดาร์กสลีปเปอร์ ทั้งนี้ปลาไหลทั้งหมด 32 ตัวที่ถูกปลาดาร์กสลีปเปอร์กลืนเข้าไป มีจำนวน 28 ตัวที่พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด และจากทั้งหมด 28 ตัว มีเพียงแค่ 12 ตัวเท่านั้น ที่สามารถหนีขึ้นมาถึงหลอดอาหาร แต่มีปลาไหลญี่ปุ่นเพียง 9 ตัวที่สามารถหนีรอดออกมาได้สำเร็จ ส่วนอีก 3 ตัว ติดค้างอยู่ตรงช่องเหงือกของปลาดาร์กสลีปเปอร์
ในกระบวนการหลบหนี นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า จะมีบางกรณี ที่ปลาไหลญี่ปุ่นตกลงไปในท้องของปลาดาร์กสลีปเปอร์ทั้งตัว และในบางกรณีตัวปลาไหลจะค้างอยู่ตรงส่วนต่อระหว่างท้องกับหลอดอาหาร ในจำนวน 28 ตัวที่พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดนี้ มี 11 ตัวที่พบว่าตกลงไปในท้องของปลาดาร์กสลีปเปอร์แบบทั้งตัว ซึ่งหลังจากตกลงไปทั้งตัวแล้ว ปลาไหลญี่ปุ่นจะว่ายวนไปรอบ ๆ ราวกับกำลังหาทางออกในจำนวน 11 ตัวนี้มีจำนวน 2 ตัวที่แหย่หางไปผิดทาง คือแหย่ไปทางลำไส้ มี 5 ตัวที่แหย่หางกลับมาทางหลอดอาหารได้ ปลาไหลที่ดิ้นรนออกมาจากหลอดอาหารนี้ใช้เวลาเฉลี่ยในการดิ้นรนหลบหนีประมาณ 56 วินาที ในขณะที่ปลาไหลญี่ปุ่นที่ไม่สามารถหาทางออกมาได้ ก็จะตายในท้องปลาภายในเวลาประมาณ 3 นาทีครึ่ง
ยูฮะ ฮาเซกาวะ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เท่าที่เราทราบในปัจจุบัน ปลาไหลญี่ปุ่นถือเป็นปลาสปีชีส์เดียวที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถหนีออกมาจากระบบย่อยอาหารของปลานักล่าได้หลังจากที่มันถูกกลืนลงไป”
ตอนนี้ทีมงานกำลังวางแผนที่จะศึกษาปลาไหลสายพันธุ์อื่น และปลาสายพันธุ์อื่นที่มีรูปร่างคล้ายกัน ว่าสามารถหลบหนีได้ด้วยวิธีการเดียวกันนี้หรือไม่ รวมถึงจะศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่าปลาไหลญี่ปุ่นจะสามารถหนีออกมาจากช่องทางแบบเดียวกันหรือไม่ เมื่อถูกสัตว์นักล่าชนิดอื่นที่ไม่ใช่ปลาดาร์กสลีปเปอร์กินเข้าไป
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการหลบหนีหลังจากถูกกลืนเข้าไปทั้งตัวของปลาไหลญี่ปุ่น ก็สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้และวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของชีวิตที่น่าทึ่งอย่างมาก งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Current Biology ฉบับวันที่ 9 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา
ที่มาข้อมูล NewScientist, Smithsonianmag, Researchgate
ที่มารูปภาพ UK.inaturalist
ข่าวแนะนำ