เตรียมเป็นสายพันธุ์ระหว่างดาว ! อีลอน มัสก์เผยแผน ปล่อยยานสตาร์ชิปสู่ดาวอังคารครั้งแรกปี 2026
อีลอน มัสก์ เปิดเผยว่ายานสตาร์ชิปจะถูกส่งไปยังดาวอังคารครั้งแรกภายในปี 2026 หากสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในปี 2028 ก็จะส่งมนุษย์ไปพร้อมกับยาน
เจ้าพ่อเทคโนโลยี อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งบริษัทด้านอวกาศสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) กล่าวว่ายานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ลำแรกของบริษัทจะออกเดินทางสู่ดาวอังคารในอีก 2 ปีข้างหน้า และหากภารกิจในปี 2026 สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ในปี 2028 ก็จะส่งมนุษย์ไปพร้อมกับยานอวกาศเพื่อลงจอดบนดาวอังคาร ถือเป็นการสนับสนุนแผนการที่จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสายพันธุ์ระหว่างดวงดาว (Interplanetary Species)
โดยอีลอน มัสก์ ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ (X) ของตนเอง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2024 ว่า…
“ยานอวกาศลำแรกที่จะเดินทางไปยังดาวอังคารจะดำเนินการในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อหน้าต่างการถ่ายโอนระหว่างโลกและดาวอังคาร (Earth-Mars transfer window) ครั้งถัดไปเปิดขึ้น”
ทั้งนี้ "Earth-Mars transfer window" หมายถึงช่วงเวลาที่โลกและดาวอังคารโคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้การเดินทางระหว่างดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงใช้พลังงานและเวลาในการเดินทางน้อยที่สุดคือประมาณ 259 วัน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นประมาณทุก ๆ 26 เดือน โดยคำนวณจากความเร็วของดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ และหลังจากปี 2026 แล้ว Earth-Mars transfer window จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2028
นอกจากนี้อีลอน ยังเปิดเผยผ่านโพสต์เดียวกันต่อเนื่องว่า…
“ยานอวกาศนี้ที่จะไปดาวอังคารในปี 2026 นี้ จะไม่มีมนุษย์อยู่ในยาน เพื่อเป็นการทดสอบความน่าเชื่อถือของการลงจอดโดยสมบูรณ์ หากการลงจอดนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เที่ยวบินที่มีมนุษย์อยู่ในยานครั้งแรกที่จะเดินทางไปยังดาวอังคารจะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า
และนับจากจุดนั้น (การลงจอดพร้อมมนุษย์ในปี 2028) อัตราการบินไปดาวอังคารจะเพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเมืองที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ภายในเวลาประมาณ 20 ปี …การมีดาวเคราะห์หลายดวงจะช่วยเพิ่มอายุขัยของชีวิตและสถิติปัญญาของมนุษย์ได้อย่างมาก เราจะได้ไม่ต้องวางชีวิตไว้บนโลกของเราเพียงใบเดียว (ถอดความหมายจาก Being multiplanetary will vastly increase the probable lifespan of consciousness, as we will no longer have all our eggs, literally and metabolically, on one planet.)”
ทั้งนี้สำหรับความต้องการของอีลอน มัสก์ คือต้องการสร้างกองยานอวกาศสตาร์ชิปจำนวน 1,000 ลำ เพื่อปฏิบัติภารกิจก่อตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร และต้องมีการปล่อยอย่างน้อย 10 ลำต่อวัน เพื่อเป็นการประกอบและเติมพลังงานให้กับกองทัพยาน
ส่วนในด้านเทคโนโลยี SpaxeX ถูกว่าจ้างโดยองค์การนาซา (NASA) เพื่อสร้างยานลงจอดบนดวงจันทร์ในโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ดังนั้นจึงทำให้ SpaceX มีประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านยานลงจอดบนต่างดาว
ในขณะที่ปัจจุบัน ความคืบหน้าของการพัฒนายานอวกาศสตาร์ชิปคือทดสอบไปแล้ว 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2024 ผลการทดสอบการบินคือ หลังปล่อยตัวขึ้นจากฐาน 02.44 นาที จรวดบูสเตอร์ซูเปอร์เฮฟวี (Super Heavy) ได้แยกตัวออกจากยานสตาร์ชิป (Starship)
โดยจรวดบูสเตอร์ซูเปอร์เฮฟวีบินลงมาจอดบนผิวน้ำบริเวณอ่าวเม็กซิโกได้สำเร็จ ส่วนยานสตาร์ชิป (Starship) ขึ้นสู่อวกาศ และกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกโดยกระบวนการ Re-entry บนชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นอีกครั้งที่แผ่นกระเบื้องป้องกันความร้อนของยานสตาร์ชิปถูกทดสอบในชั้นบรรยากาศโลก แม้ว่าปีกของยานสตาร์ชิปได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ยานสตาร์ชิปก็สามารถร่อนลงจอดบนผิวน้ำกลางมหาสมุทรอินเดียได้สำเร็จ
นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญให้กับการพัฒนายานอวกาศของบริษัท ส่วนการทดสอบครั้งที่ 5 บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยกำหนดการ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
ที่มาข้อมูล NewAtlas, X, TNN Thailand
ที่มารูปภาพ Starship, Reuters
ข่าวแนะนำ